ครม.ไฟเขียวแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาข่มขืน-ล่วงละเมิดทางเพศ

ครม.ไฟเขียวแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาข่มขืน-ล่วงละเมิดทางเพศ

ครม.ไฟเขียวแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาข่มขืน-ล่วงละเมิดทางเพศ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.64  ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการพิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก และกำหนดเป็นวาระที่ต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอแนะของกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยมีข้อสรุปดังนี้

1.เห็นควรให้มีการสร้างเจตคติและการระมัดระวังตนเอง เพื่อป้องกันการกระทำความผิดจากพฤติกรรมที่มีลักษณะของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ สร้างกลไกการเฝ้าระวังร่วมกับเครือข่ายในระดับชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ ปลูกฝังการเคารพสิทธิตนเองและผู้อื่น

2.ให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) พัฒนาแนวทางปฏิบัติสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายให้เป็นแนวทางเดียวกัน และศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบเชื่อมโยงข้อมูลนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์

3.ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) รับไปพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการบูรณาการการส่งต่อเรื่องร้องทุกข์และการรับแจ้งเหตุ โดยจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเหตุกลาง

4.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมโดยละเอียดอย่างเร่งด่วน มาตรการการดำเนินการทางวินัยแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ล่วงละเมิดทางเพศแก่นักเรียน และเห็นควรให้คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวด้วย

5.ศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ประเด็นการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศไม่ควรมีอายุความ และการกำหนดค่าเสียหายในลักษณะที่เป็นค่าเสียหายเชิงลงโทษ

6.การนำเสนอของสื่อเกี่ยวกับข่าวการข่มขืน เห็นควรให้มีการศึกษาเพิ่มเติมประเด็นการนำเสนอ “สื่อข่าว” หรือ “สื่อบันเทิง” ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจัดทำคู่มือมาตรฐานและแนวทางที่เหมาะสมของสื่อมวลชน