เปิดทฤษฎี 3.5% ล้มรัฐบาล นับ 1 ถึงล้านคืนอำนาจปชช.
จำนวนที่ว่าจะทรงพลังสร้างความเปลี่ยนเแปลงจนถึงขั้นล้มรัฐบาลตามทฤษฎี "เอริกา เชโนเวธ" หรือไม่ต้องลุ้นกันอีกหลายชอต
พลันที่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 ประกาศเคลื่อนไหวทำกิจกรรม “อ่านจดหมายเปิดผนึก” ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม 5 หน่วยงาน เพื่อเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเป็นกลางในการพิจารณาและให้ประกันตัว 4 แกนนำผู้ชุมนุม
รวมถึงการนัดหมายเดินหน้าจัดอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาฯ ช่วงวันที่ 16-19 ก.พ. กลายเป็นยุทธวิธีแยกกันเดินร่วมกันตีกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาฯ เพื่อส่งแรงกระเพื่อมคู่ขนานไปถึงรัฐบาล ในช่วงที่แกนนำผู้ชุมนุมพยายามปลุกกระแสม็อบกลับมาชุมนุมใหญ่อีกครั้ง
ถึงแม้ 4 แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ตั้งแต่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ยังถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างรอการพิจารณาคดีอาญา ตามมาตรา 112 จากการชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563
แต่เป็นช่วงที่แกนนำที่เหลือกำลัง “ปรับแผน” เพื่อปลุกมวลชนให้กลับมาเคลื่อนไหวกดดัน 3 ข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะการรณรงค์ยกเลิก “ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112” ซึ่งเป็นคดีความใหญ่ที่กำลังมัดตัวแกนนำคณะราษฎร รวมไปถึงคดีความตามมาตรา116 ฐานยุยงปลุกปั่น และคดีความอื่นๆ ในช่วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เป็นที่มาของการนัดชุมนุมที่ลานสกายวอล์ก แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. และอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนขบวนไปศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ซึ่งเป็นการจุดประเด็นจัดกิจกรรม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” เพื่อเรียกร้องมวลชนกลับมาร่วมเคลื่อนไหวให้ได้ยอดหลักล้านคน ตามทฤษฎีที่แกนนำเชื่อว่า “ตัวเลข 3.5%” คือจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ราษฎรตั้งเป้าไว้จะไปให้ถึง
ตัวเลขนี้มาจากงานวิจัยของ “เอริกา เชโนเวธ” (Erica Chenoweth) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความขัดแย้งระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเก็บข้อมูลเชิงสถิติในรอบ 100 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1900-2006 พบว่าความเคลื่อนไหวที่ “ไม่ใช้ความรุนแรง” จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการเคลื่อนไหวชุมนุมใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะต้องมีผู้เข้าร่วมด้วยอย่างน้อย 3.5% ของประชากรทั้งประเทศ การเคลื่อนไหวจะทรงพลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ
หากไปดูประวัติ “เอริกา เชโนเวธ” เป็นนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะที่ Harvard Kennedy School และ Radcliffe Institute for Advanced Study โดย “เอริกา เชโนเวธ” เป็นที่รู้จักจากงานวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่อต้านพลเรือนที่ไม่ใช้ความรุนแรง
ที่ผ่านมา เอริกา เชโนเวธ เคยมีทีมทำงานวิจัยการเคลื่อนไหวชุมนุมหลายประเทศทั่วโลกในความพยายามการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่รูปแบบใช้ความรุนแรงและไม่ใช้รุนแรง พบว่ามีข้อมูลการเคลื่อนไหวของประชากรที่ใช้ความรุนแรงจะมีตัวเลข 26% ที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่การเคลื่อนไหวไม่ใช้ความรุนแรง จะมีตัวเลขถึง 53% ที่ประสบความสำเร็จ
ยิ่งไปกว่านั้น การพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยจากรายงานวิจัย เอริกา เชโนเวธ ชี้ให้เห็นว่า การไม่ใช้ความรุนแรงส่งเสริมประชาธิปไตยมากกว่าการรูปแบบชุมนุมใช้ความรุนแรง โดยมีการยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวในปี 2529 ชาวฟิลิปปินส์หลายล้านคน ออกมาไปตามท้องถนนในกรุงมะนิลา เพื่อประท้วงอย่างสันติเพื่อล้มระบอบ “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส” ประธานาธิบดีที่ครองตำแหน่งมายาวนานถึง 21 ปี
ระหว่างนี้การชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรผ่านมาแล้ว 8 เดือน ตั้งแต่ 18 ก.ค.2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นช่วงที่แนวร่วมสนับสนุนขณะนี้เริ่มแผ่วลงจากที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมาจากคดีความของแกนนำการชุมนุม หรือจุดยืนการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนไป ทำให้ขณะนี้กลุ่มคณะราษฎรพยายามจุดกระแสใหม่ ผลักดันให้ยอดผู้ชุมนุมถึงหลักล้านคน โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่มาจาก “เอริกา เชโนเวธ”
เมื่อตรวจสอบจำนวนประชากรของประเทศไทย จากข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ณ วันที่ 15 ส.ค.2563 อยู่ที่ 66,534,850 คน และเมื่อคำนวณตัวเลข 3.5% ของประชากรในประเทศ จะมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับคำปราศรัยที่ “ปนัสยา” ประกาศไว้ที่หน้า สน.ปทุมวันเมื่อวันที่ 10 ก.พ. เป็นการเฉลย “ปริศนา” ที่กลุ่มราษฎรต้องเร่งปลุกมวลชนให้ไปถึงตัวเลข 2 ล้านคน ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ทว่าจำนวนที่ว่าจะทรงพลัง สร้างความเปลี่ยนเแปลงจนถึงขั้นล้มรัฐบาลได้ตามทฤษฎี เอริกา เชโนเวธ หรือไม่ คงต้องลุ้นกันอีกหลายชอต.