ปชป.แตกแถวโหวตซักฟอก เขย่าเก้าอี้หัวหน้า 'จุรินทร์'
ความระอุในพรรคประชาธิปัตย์เสี่ยงปะทุได้ทุกเวลา เมื่อใดก็ตาม ที่ “ส.ส.ปลดแอก” เห็นช่องทางในการ “เขย่าเก้าอี้ผู้นำพรรค” ของ “จุรินทร์”
ถึงแม้การลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเสร็จสิ้นไปเมื่อวันเสาร์ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยกลุ่ม 10 รัฐมนตรีได้รับคะแนน “ไว้วางใจ” แตกต่างกันไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกเสียงการลงมติในครั้งนี้ยังปรากฏ“ร่องรอย” บาดหมางระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง รวมถึงภายในแต่ละพรรค ที่สะท้อนผ่านเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไม่ต้องปิดบัง
โดยเฉพาะภายใน “ประชาธิปัตย์” สถานการณ์กลับมาสั่นไหวอีกครั้ง เมื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้คะแนนไว้วางใจ 268 ต่อ 207 เสียง งดออกเสียง 7 คะแนน โดย 3 ใน 7 นี้ เป็นส.ส.ประชาธิปัตย์เองถึง 3 คน ได้แก่ พนิต วิกิตเศรษฐ์ อภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี
ขณะที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรค ได้คะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 206 งดออกเสียง 4 คะแนน ซึ่งมาจาก 1.ชวนหลีกภัย ในฐานะประธานสภาฯ 2.พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ 3.อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ และ 4.สมพงษ์โสภณ ส.ส.ระยอง พรรคพลังประชารัฐ
ส่วน “อันวาร์ สาเละ” ที่ “งดออกเสียง” ให้รัฐมนตรี 9 คน โดย “ไว้วางใจ” นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เพียงคนเดียว และมีฝ่ายค้านอย่าง “คารม พลพรกลาง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สมทบคะแนนไว้วางใจให้นิพนธ์อีกเสียง
ปรากฎการณ์ “สวนมติพรรค” ครั้งนี้ เป็นท่าทีทางการเมืองไปถึง “จุรินทร์” จนทำให้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค และรมว.เกษตรฯ ต้องไล่บี้ “3 ส.ส.ที่งดออกเสียงให้หัวหน้าพรรค”
ก่อนหน้านี้ ในการอภิปรายวันแรกวันที่ 16 ก.พ. “พนิต-อันวาร์” ออกมาประกาศจุดยืนการลงคะแนนอภิปรายอย่างชัดเจน ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า สัญญาณครั้งนี้อาจเป็น 6 รัฐมนตรี และนายกฯ เท่านั้น แต่ไม่คาดว่าจะพุ่งเป้ามายัง “จุรินทร์” ด้วย
ไม่ใช่แค่นั้น แต่ชื่อ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งกลุ่ม 17 ส.ส.รวมกับ เทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังส่งสัญญาณกลางที่ประชุมพรรค ให้แสดง “จุดยืน” ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2563
ท่าทีจาก 17 ส.ส.เคยประกาศไว้ว่า หากมีรัฐมนตรีคนใดชี้แจงข้อกล่าวหาฝ่ายค้านไม่เคลียร์ ก็ไม่ควรได้รับสิทธิไว้วางใจ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรฯ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังเป็นตำบลกระสุนตกขณะนั้น แต่สุดท้ายกลุ่ม 17 ส.ส.ต้องจำยอมทำตามมติพรรค กดโหวต “ไว้วางใจ” ให้ แต่มาถึงการอภิปรายครั้งนี้ชื่อ “สาทิตย์-อันวาร์” ยังยึดจุดยืนเดิมโดย"งดออกเสียง"ให้ ร.อ.ธรรมนัส
แรงต้านภายในรอบนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำให้เอกภาพในพรรคประชาธิปัตย์ถูกตั้งคำถาม แต่ก่อนหน้านี้เคยมีกรณี 4 ส.ส.พรรคโหวตสวนมติวิปรัฐบาล ในการตั้งญัตติศึกษาผลกระทบจากคำสั่ง ม.44 โดยมีชื่อ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เทพไท เสนพงศ์ พนิต วิกิตเศรษฐ์อันวาร์ สาและ ซึ่งทั้งหมดได้โหวตลงมติ “เห็นด้วย” กับการตั้งกรรมาธิการชุดดังกล่าว
แต่แล้วจากการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจล่าสุด ยังพบ ส.ส.ที่เคยโหวตสวนมติพรรคกลุ่มเดิมอีกครั้ง
เป็นประเด็นที่ “จุรินทร์” เคยให้เหตุผลว่า “ผู้แทนราษฎรต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่ภายใต้ข้อบังคับพรรคด้วยประกอบกัน” ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะวิปพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งรายงานผลลงมติของส.ส.พรรค ไปให้รัฐมนตรีทั้ง 10 คน
ที่สำคัญการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์วันนี้ 23 ก.พ. ประชาธิปัตย์จะเรียก 3 ส.ส.มาชี้แจงถึงเหตุผลการลงมติที่สวนทางพรรค
โดยประเด็นที่จะถูกหารือไปนั้น ถึงแม้ ส.ส.กลุ่มนี้จะอ้างอิงรัฐธรรมนูญและสิทธิส่วนบุคคล แต่ถือว่า ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับพรรคเช่นกัน
ขณะที่ “อันวาร์ สาและ” อธิบายเหตุผลผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” อสมท.ถึงการลงคะแนนใน 3 รูปแบบในการโหวตของเขา มีทั้ง “งดออกเสียง” ให้ 9 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งรวมถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จุรินทร์ ด้วย และไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ตอบไม่เคลียร์ และไว้วางใจรัฐมนตรีที่ตอบคำถามชัดเจน
โดยยกกรณี ร.อ.ธรรมนัส ที่เคยยกมือไว้วางใจให้ตามมติพรรค ปชป.ในครั้งที่แล้ว แต่ครั้งนี้ไม่ไว้วางใจ เพราะเหตุผลเรื่องไปแก้ระเบียบการใช้ที่ดิน สปก.4-01 จากที่อนุญาตให้คนจนได้ทำมาหากิน แต่กลับไปเอื้อให้กลับนายทุน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เคยเป็นเหตุให้ประชาธิปัตย์ต้องยุบสภามาแล้ว เพราะผิดพลาดไปแจกคนรวย
เช่นเดียวกับการไว้วางใจ นิพนธ์ รมช.มหาดไทย คนพรรคเดียวกัน ถึงแม้จะมีปัญหาส่วนตัวกันมา ซึ่งอันวาร์ อ้างถึงความขัดแย้งที่ถูกนิพนธ์พยายามกีดกันไม่ให้เขาลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เอาคืน ในเมื่อข้อกล่าวหานิพนธ์ เจ้าตัวอธิบายได้เคลียร์ อีกทั้งเรื่องที่ถูกอภิปรายก็ยังเป็นคดีอยู่ในศาล
ส่วนการ“งดออกเสียง” ให้หัวหน้าพรรคตัวเอง อันวาร์ มีคำอธิบายว่า เขางดออกเสียงรัฐมนตรีในภาพรวม เพราะบางเรื่องตอบไม่ชัดเจน เป็นการงดออกเสียงเชิงสัญลักษณ์ เพื่อท้วงติงการทำงาน
แม้จะมีคำอธิบายที่ “ฟังขึ้น” แต่ความระอุคุกรุ่นในพรรคประชาธิปัตย์ ยังเสี่ยงปะทุได้ทุกเวลา เมื่อใดก็ตาม ที่ “ส.ส.ปลดแอก” เห็นช่องทางในการ “เขย่าเก้าอี้ผู้นำพรรค” ของ “จุรินทร์”