'ปลอดประสพ สุรัสวดี' เปิดไทม์ไลน์ชะตาชีวิต จากจุดสูงสุดสู่นักโทษติดกำไลอีเอ็ม
เปิดประวัติไล่ "ไทม์ไลน์" ชีวิต-การทำงาน "ปลอดประสพ สุรัสวดี" ถึงความรุ่งโรจน์ รวมทั้งปมคำสั่งปลดในหน้าที่ และถูกพิจารณาคดีหลายกรณี กระทั่งถึงจุดพลิกผันสำคัญคือถูกโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชฯ ในที่สุด
"ปลอดประสพ สุรัสวดี" ชื่อนี้ กลับมาอยู่กระแสความสนใจของประชาชนอีกครั้ง จากตัวตนที่กล้าพูดกล้าตัดสินใจ นับสมัยตั้งแต่รับราชการจนมาเป็นนักการเมือง ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจอย่างยิ่ง เช็คประวัติไทม์ไลน์ชีวิต-การทำงานของเขาอีกครั้ง
- โปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชฯ “ปลอดประสพ สุรัสวดี”
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใจความสำคัญตอนหนึ่ง
ระบุว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่ง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับพระราชทาน เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 เหรียญจักรพรรดิมาลา เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 และเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3
- ปูมประวัติการทำงาน เคยถูกสั่งสอบ-สั่งปลดปมพัวพันส่งออกเสือโคร่งไปจีน
เริ่มรับราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทั่งได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมประมง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและฟื้นฟูทะเลไทย อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ต่อมาได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปี พ.ศ. 2548 นายปลอดประสพ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากที่คณะกรรมการของคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ พิจารณาว่านายปลอดประสพไม่มีความผิดทางวินัยจากอนุมัติการส่งออกเสือโคร่ง 100 ตัวไปยังประเทศจีน แม้ว่าก่อนหน้านั้นคณะกรรมการของ พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย จะวินิจฉัยว่านายปลอดประสพมีความผิดก็ตาม
ในปีต่อมา นายปลอดประสพ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ตามลำดับ
สมัย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งปลด นายปลอดประสพออกจากราชการ ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2548 โดยการชี้มูลความผิดจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในกรณีที่ปลอดประสพได้ลงนามอนุมัติคำขอส่งออกเสือโคร่ง 100 ตัว ของบริษัทสวนเสือศรีราชา (ศรีราชา ไทเกอร์ ซู) ไปยังสวนสัตว์ซอนยาประเทศจีน ซึ่ง ป.ป.ช. ได้พิจารณาว่าเจตนาดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปเพื่อการวิจัยตามกล่าวอ้างและถือเป็นความผิดขั้นร้ายแรง
- ใช้สิทธิ พ.ร.บ. ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 ลงสมัครรับเลือกตั้งพรรคพลังประชาชน
อย่างไรก็ดีในภายหลัง นายปลอดประสพ ได้นำ พ.ร.บ. ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 เพื่อขอใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน และได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (สมัคร สุนทรเวช) ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาว่า พรบ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 มาตรา 6 ระบุมิให้ลงโทษกับผู้ซึ่งได้รับการลงโทษหรือได้รับพิจารณาว่าไม่มีความผิดไปแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ นายปลอดประสพเคยได้รับการพิจารณาว่าไม่มีความผิด และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ให้ความเห็นชอบและยุติเรื่อง
ในการนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงถือว่า นายปลอดประสพ ไม่เคยถูกคำสั่งลงโทษ
- เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
นอกจากนี้ นายปลอดประสพ ยังเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยรับผิดชอบในแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวทางทะเลของไทยภายหลังภัยพิบัติคลื่นสึนามิ เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และเป็นผู้ก่อตั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีด้วย
- ถือครองที่ดินมูลค่ารวมกว่า 800 ล้าน
นายปลอดประสพ ยังถือครองที่ดินมากที่สุดในคณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมมูลค่า 807,542,000 บาท
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 10 ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั้งราชอาณาจักรในวันเดียวกันได้ ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ
- ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม
วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นายปลอดประสพ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม
ต่อมา ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 7 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทย มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
- ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา จำคุก 1 ปี แต่รอลงอาญา 2 ปี ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560 นายปลอดประสพ ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา จำคุก 1 ปี แต่รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานปฏิบัติหน้ามี่มิชอบ กรณีเมื่อปี 2546 ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งปี 2546 สั่งยกเลิกการขึ้นดำรงตำแหน่งของ นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน โจทก์ ในตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยมิชอบ โดยศาลยังมีคำสั่งให้นายปลอดประสพ จำเลยต้องชดใช้เงินทดแทนความเสียหายโจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด (ฎีกา) ให้ลงโทษจำคุกปี 8 เดือน (ติดคุกทันที/ไม่รอลงอาญา) เนื่องจากศาลเห็นว่าการโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าวไม่เป็นธรรมและทำลายระบบคุณธรรม-ธรรมาภิบาล
- เป็นจำเลย ในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกล่าวหานายปลอดประสพว่า โยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมิชอบ
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1063/2558 ที่นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นจำเลย ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกล่าวหานายปลอดประสพว่า โยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมิชอบ
- ศาลฎีกาพิพากษาคุก 1 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา ผิดมาตรา 157 ฐานโยกย้ายข้าราชการโดยมิชอบ สมัยเป็นปลัด ทส.
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นจำเลย กรณีโยกย้ายข้าราชการโดยมิชอบ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยเป็นการอ่านคำพิพากษาหลังจากเลื่อนมา 1 ครั้ง เนื่องจากนายปลอดประสพ อ้างว่าป่วย และไม่เดินทางมาศาล ศาลจึงออกหมายจับให้นำตัวมาฟังคำพิพากษา กระทั่งนายปลอดประสพเดินทางมารายงานตัวต่อศาลในวันนี้
- เป็นหนึ่งในนักโทษที่ติดกำไลอีเอ็ม
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว พร้อมเผยว่า ขณะนี้มีผู้ที่ติดกำไลอีเอ็มแล้ว 39 ราย ซึ่งหลังจากนี้กรมคุมประพฤติจะทยอยติดกำไลอีเอ็มให้กับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม โดยคาดว่าจะใช้กำไลอีเอ็มปีละ 87,700 ราย
รายชื่อของผู้ที่ได้รับการพักโทษเพราะเงื่อนไขในคดีการเมืองมี 2 คน คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี และ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ
ในเวลานั้น นายปลอดประสพ จำคุกแล้วเป็นเวลา 6 เดือน ได้เป็นนักโทษชั้นดีและเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ
วันเดียวกันนั้น นายปลอดประสพจึงได้เข้ารับการติดกำไลอีเอ็ม สำนักงานงานคุมประพฤติเขต 7 และได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
เหล่านี้ คือข้อมูลอันหวือหวาและหลากสีสันและมีบั้นปลายอันรันทดของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีที่ครั้งหนึ่งมีที่ดินในครอบครองมากถึง 800 กว่าล้านบาท!