‘วันสตรีสากล’ 8 มีนาคม 2564 กับการต่อสู้ของ ‘มะ เจ ซิน’ และ ‘ผู้หญิงเมียนมา’ แนวหน้าการประท้วง

‘วันสตรีสากล’ 8 มีนาคม 2564 กับการต่อสู้ของ ‘มะ เจ ซิน’ และ ‘ผู้หญิงเมียนมา’ แนวหน้าการประท้วง

วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2564 ปีนี้ ทั่วโลกจับตามองสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาที่กำลังร้อนระอุ น้อยคนจะสังเกตเห็นว่า "ผู้หญิง" ออกมาเป็นแนวหน้าในการชุมนุม มาดูกันว่า อะไรคือแรงขับเคลื่อนให้ มะ เจ ซิน หรือ แองเจิ้ล เลือกเดินเส้นทางนี้​? 

ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า “ผู้หญิง” ทั่วโลกได้ออกมามีบทบาทในการเคลื่อนไหวสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะเนื่องใน วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2564 ปีนี้ ทั่วโลกต่างจับตามองสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมาที่กำลังร้อนระอุ 

สำหรับใครที่ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด น่าจะทราบกันดีว่า การออกมาประท้วงครั้งนี้ กลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นแนวหน้าในการชุมนุมส่วนใหญ่เป็น “ผู้หญิง” มากกว่า “ผู้ชาย” 

ทั้งที่เสี่ยงอันตรายและรู้ว่าจะต้องได้รับบาดเจ็บ แต่หญิงนักสู้เหล่านี้ยังเลือกที่จะออกมาต่อสู้เพื่อประเทศของพวกเธอ เหมือนกับ “มะ เจ ซิน” (Ma Kyal Sin) เยาวชนหญิงผู้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยแนวหน้า หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แองเจิ้ล” เธอมีอายุเพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น แต่ต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมโดยกองกำลังทหารเมียนมาจากการถูกยิงเข้าที่ศีรษะ 

มาดูกันว่า อะไรคือแรงขับเคลื่อนให้พวกเธอเลือกเดินเส้นทางนี้​? 

1. “อองซานซูจี” ผู้นำหญิงของชาวเมียนมา ถูกยึดอำนาจจากกองกำลังทหาร

เป็นที่ทราบกันดีว่าการที่ผู้คนออกมาประท้วงกันครั้งนี้ก็เพราะว่าผู้นำหญิงของพวกเขาอย่าง นาง ออง ซาน ซูจี ถูกยึดอำนาจโดยกองกำลังทหาร ที่กระทำการยึดอำนาจโดยอ้างเหตุผลเรื่องการโกงการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว 

การยึดอำนาจ และควบคุมตัวผู้นำหญิงที่เป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวเมียนมาในครั้งนี้ ก็ทำให้ผู้คนหลายคน โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” ลุกฮือออกมายืนเรียงรายกันแน่นขนัดแถวหน้าบนถนนเป็น “หลักแสน” เพราะต้องการเรียกร้อง ต่อต้าน และขอความเป็นธรรมกลับคืนมา

161513036045

เครดิตภาพ : AFP

2. อองซานซูจี ทำให้ผู้หญิงเมียนมามีบทบาทในทุกๆ สังคม และแวดวงอาชีพ 

เหตุผลส่วนหนึ่งที่เราได้เห็น “สตรี” อยู่ในแนวหน้าของการประท้วงจำนวนไม่น้อยในครั้งนี้ เนื่องจากนับตั้งแต่นางอองซานซูจีได้ขึ้นมาบริหารประเทศ ผู้หญิงก็ได้มีบทบาท เชิดหน้าชูตา มีงานทำในสังคมมากขึ้น ต่างจากที่ก่อนหน้านี้ประเทศเมียนมามีคำสั่งปราบปรามสตรีมากว่าครึ่งศตวรรษ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมในขบวนประท้วงบนถนนครั้งนี้ ถึงได้เห็นตัวแทนสหภาพแรงงาน ครู สาวโรงงานเย็บผ้า และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้หญิง ออกมาร่วมขบวนกันอย่างล้นหลาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเด็กเจนเนอเรชั่นใหม่ มักจะเป็นกองกำลังสำคัญที่อยู่แนวหน้า ด้วยความมุ่งมั่นและความคล่องตัวในการช่วยเหลือผู้คน แต่แม้จะมีเยาวชนออกมาร่วมขบวน แต่กองกำลังก็ไม่ได้ลดความรุนแรงลงแม้แต่น้อย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบรายแล้วในขณะนี้ 
มะ ซันดา (Ma Sandar) ผู้ช่วยเลขาธิการ สมาพันธ์สหภาพแรงงานเมียนมา หนึ่งในผู้ร่วมการประท้วงครั้งนี้ ได้พูดกับสื่อไว้ว่า “การปฏิวัติครั้งนี้อาจต้องแลกมาด้วยการสูญเสียอย่างเลี่ยงไม่ได้”

3. การประท้วงเริ่มหนักขึ้น และกองกำลังทหารใช้ “กระสุนจริง” ในการรักษาความสงบ

ในบรรดาผู้เสียชีวิตทั้งหมด 54 คน ตั้งแต่มีการทำรัฐประหารในครั้งนี้ “มีเยาวชนหญิงเสียชีวิต 4 ราย” หญิงสาวสองคนถูกยิงที่ศีรษะ อีกหนึ่งคนถูกยิงที่หัวใจ และอีกหนึ่งคนที่ถูกนำเสนอบนหน้าข่าวมากที่สุดก็คือ “มะ เจ ซิน” เยาวชนหญิงวัย 19 ปี หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แองเจิ้ล”

หนึ่งในเพื่อนคนสนิทของเธออย่าง “เฉา นเว โอ” ได้พูดยกย่องให้สื่อฟังว่า “มะ เจ ซิน คือฮีโร่ของประเทศเมียนมา” เธอเข้าร่วมการเดินประท้วงทุกวันเลย ตั้งแต่มีเหตุการรัฐประหาร และในม็อบครั้งนี้จะเห็นได้ว่า เยาวชนและวัยรุ่นหญิงออกมาแสดงพลังให้เห็นว่า “ผู้หญิงอย่างเรา มีความกล้าไม่น้อยหน้าไปกว่าผู้ชายเลย”

แล้วโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นกับ มะ เจ ซิน หรือ แองเจิ้ล เธอถูกยิงเข้าที่หัวโดยเจ้าหน้าที่กองกำลังทหารเมียนมา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ซึ่งในวันดังกล่าว มีรายงานจาก UN ว่า มีจำนวนชาวเมียนมาเสียชีวิตมากที่สุดถึง 38 คน

สถานการณ์ความรุนแรงได้เริ่มหนักขึ้น ซึ่งสวนทางกับประกาศของกองกำลังทหารก่อนหน้านี้ ที่บอกว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้รับคำสั่งไม่ให้ใช้กระสุนจริงในการรักษาความสงบ ให้ยิงแค่ลำตัวส่วนล่างเท่านั้น แต่ปรากฏว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ตรงกันข้ามกันหมด มีคนเสียชีวิตจริงเกิดขึ้น ไม่เป็นไปตามที่ออกมาประกาศไว้บนโทรทัศน์

161513050163

เครดิตภาพ : AFP

4. ทุกคนไม่ต้องการให้คนรุ่นหลังถูกทำร้ายด้วยระบบแย่ๆ อย่างนี้อีก

การประท้วงยิ่งร้อนระอุขึ้น เหล่าสตรีวีรชนชาวเมียนมาออกมาเป็นแนวหน้า หลายๆ คนใส่โสร่ง (เครื่องแต่งกายประจำชาติ) ออกมาเดินถือป้ายประท้วงนายพลมิน อ่อง หล่าย เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ส่วนกลุ่มแพทย์อาสาสมัครหญิงก็ออกมาลาดตระเวนตามท้องถนน ดูแลคนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 

การที่ผู้หญิงเมียนมาออกมาเป็นกองกำลังสำคัญช่วยเหลือกันเองในม็อบสะท้อน ทั้งที่ทราบดีถึงความอันตราย แต่ก็ไม่มีใครหวั่นเกรง เพราะจุดร่วมสำคัญที่ชาวเมียนมาทุกคนมี คือ “ไม่อยากให้คนรุ่นหลังต้องถูกทำร้ายด้วยระบบแย่ๆ อย่างนี้อีก” ยิน ยิน ฮอง (Yin Yin Jnoung) แพทย์สาวอายุ 28 ปี หนึ่งในคนที่หลบกระสุนที่มัณฑะเลย์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้

5. ชาวเมียนมาเข็ดที่จะกลับไปใช้ชีวิตแร้นแค้นแบบเมื่อก่อน

ชาวเมียนมาไม่ต้องการถอยหลังกลับไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยความแร้นแค้นยากลำบากเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป เพราะทุกๆ คนรู้ตัวดีว่า รสชาติของความลำบาก น่าขยาดแค่ไหน หากที่ต้องตกอยู่ในอำนาจการปกครองของทหาร จึงได้ต่อสู้เพื่อทวงเสรีภาพกลับคืนมา และการบริหารประเทศโดยรัฐบาลของนาง ออง ซาน ซูจี ก็ได้ให้ความสำคัญกับผู้หญิงทุกๆ ภาคส่วนด้วย จึงไม่อยากกลับไปเป็นแบบเดิมแล้ว

161513060054

เครดิตภาพ : New York Times

6. ในอดีต ผู้หญิงมักถูกดูแคลน เอาเปรียบ และถูกปฏิบัติในมาตรฐานที่ต่ำกว่า แน่นอนว่า พวกเธอไม่ต้องกลับไปสู่การถูกกดขี่แบบนั้น

หากมองย้อนกลับไปในอดีตสมัยที่กองกำลังทหารปกครอง ยูเอ็นได้ชี้แจงไว้ว่า ไม่เคยมีผู้หญิงได้ทำงานในหน่วยงานเลย นายพลและทหารมักมีทัศนคติต่อผู้หญิงในเชิงที่ดูอ่อนแอ ไม่บริสุทธิ์ จึงเอารัดเอาเปรียบ และทำแต่พฤติกรรมแย่ๆ กับผู้หญิงอยู่เสมอ

แต่ปัจจุบันผู้หญิงชาวเมียนมามีบทบาทในสังคมมากขึ้น ทั้งในการศึกษา การผลักดันระบบเศรษฐกิจ งานราชการ ธุรกิจ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย เพราะช่วงเดือนพฤศจิกายน ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาของเมียนมา มีผู้เข้าร่วมพรรคการเมืองของ นาง อองซานซูจี เป็นผู้หญิงมากขึ้นเป็นสัดส่วนถึง 20% และพรรคของเธอได้รับชัยชนะ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทางทหารก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งดังกล่าว และนำมาสู่การทำรัฐประหารโดยอ้างว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีการฉ้อโกง อันเป็นเหตุให้ประชาชนลุกฮือและเกิดความรุนแรง สูญเสียอย่างมาก

การคร่าชีวิตผู้คนชาวเมียนมาจากการที่ทุกคนเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ได้จุดชนวนให้กับคนทั้งประเทศ 

“แม้ว่าชาวเมียนมาจะหัวใจสลายกับภาพการนองเลือดที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เป็นสัญญาณที่ดีในปรากฏการณ์นี้คือ การได้เห็นผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิบนท้องถนนกันมากขึ้น” ดร.มีมี วิน บริด (Dr. Miemie Winn Byrd) ชาวพม่าเชื้อสายอเมริกา ผู้ทำงานในกองทัพสหรัฐอเมริกา ประจำรัฐโฮโนลูลู ได้แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์นี้กับสื่อ พร้อมบอกอีกด้วยว่า จะช่วยสนับสนุนเงินเพื่อสตรีเหล่านี้ที่ออกมาร่วมขบวนเพื่อประเทศด้วย

161513076197

เครดิตภาพ : New York Times

7. เพื่อปกป้องสวัสดิภาพผู้ชุมนุมแถวหน้าหรือคนที่ถูกเพ่งเล็งเป็นเป้าหมายจากการถูกจับกุมตัว

ณ ตอนนี้สวัสดิภาพของชาวเมียนมานับว่าอยู่ในระดับที่เสี่ยงมาก ผู้ชุมนุมแถวหน้าที่เป็นที่จดจำและมีชื่อเสียงมักเป็นเป้าหมาย อย่าง เอีย ทินซาร์ หม่อง (Ei Thinzar Maung) และ เอสเธอร์ เซอร์ นอว (Esther Ze Naw) และอีกหลายคน เมื่อออกมาประท้วงกันตอนกลางวันแล้ว หลายคนต้องซ่อนตัวในเวลากลางคืนอย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุมได้ เพราะตอนนี้มีผู้ถูกจับกุมตัวเป็นจำนวนมากถึง 1,500 คน

ก่อนหน้านี้ในอดีต เมื่อตอนอายุ 17 ปี  เอสเธอร์ เซอร์ นอว เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมหญิงแถวหน้าที่ปลุกระดมการเดินขบวนประท้วงเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิ์ให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงชนกลุ่มน้อยอย่าง ชาวคะฉิ่น ในหมู่บ้านของเธอ แต่หลังจากนั้นกองกำลังทหารก็ได้บุกรุกเข้ามาพาไปกักขังที่ค่ายทหาร 

ระหว่างที่ถูกกักขังอยู่ที่นั่น เธอคิดแต่ว่า “จะมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อยกเลิกรัฐบาลทหาร เพราะการเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มน้อยเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อผู้มีเพศหญิงในมาตรฐานที่รองลงไปจากเพศชาย” นี่คือเหตุหลักๆ ที่ทำให้นักเคลื่อนไหวสตรีมีความมุ่งมั่นต่อปัญหาด้านสิทธิมากขึ้น

161513069673

เครดิตภาพ : AFP

การกดขี่เหล่านี้จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ มีความกล้าหาญอย่างมากที่จะออกมาร่วมขบวนต่อต้าน เพราะทุกคนเข้าใจดีว่า การปกครองแบบเผด็จการจะทำให้ต้องเผชิญกับอะไร สังเกตได้ง่ายๆ จากเหตุการณ์ล่าสุดที่กองกำลังทหารยิงประทุษร้ายใส่ผู้ประท้วงที่มาชุมนุมอย่างสันติและไม่มีอาวุธต่อสู้ ด้วยสภาพเช่นนี้แล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเหล่าเยาวชน คนรุ่นใหม่ ทั้งหญิงและชายถึงไม่ต้องการกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของกองกำลังทหารแบบในอดีตอีก

มะ เจ ซิน หรือ “แองเจิ้ล” เป็นหนึ่งในวีรสตรีเยาวชนเมียนมาที่น่ายกย่อง แม้ความโชคร้ายจะทำให้เธอกลายเป็นเหยื่อในสงครามการต่อต้านรัฐประหารนี้ แต่เธอคือผู้ที่ใจที่มีเด็ดเดี่ยวและหาญกล้า โดยในวันเดียวกันก่อนที่เธอจะเสียชีวิต ขณะที่กองกำลังทหารใช้แก๊สน้ำตาฉีดเข้าใส่ผู้ชุมนุม เธอได้พยายามถีบท่อน้ำให้แตกเพื่อให้ทุกคนได้ล้างหน้าจากแก๊สน้ำตา 

แม้บนเสื้อยืดที่เธอสวมใส่เขียนด้วยข้อความที่ว่า Everything will be okay” แปลเป็นไทยก็คือ “ทุกอย่างจะโอเค” แต่อีกหนึ่งสิ่งที่แทบไม่มีใครสังเกตเห็นคือ ภายใต้เสื้อยืด เธอยังได้สวม “จี้รูปดาว” ไว้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับชื่อภาษาพม่าของเธอที่มีความหมายว่า “ดาวบริสุทธิ์”

มีอีกหนึ่งประโยคที่ มะ เจ ซิน พูดไว้กับเพื่อนสนิทของเธออย่าง เฉา นเว โอ ว่า “ถ้าเห็นดวงดาว โปรดจำไว้ว่า นั่นคือฉันเอง” 

หวังว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาจะไม่ต้องส่งมนุษย์คนไหนกลับขึ้นดาวบนฟ้าอีก...

อ้างอิง: The New York Times, The Telegraph Media, CNA, South China Morning Post