ครม.รับทราบคะแนนโปร่งใสรัฐไทยปี 63 เฉลี่ย 67.90

ครม.รับทราบคะแนนโปร่งใสรัฐไทยปี 63 เฉลี่ย 67.90

ครม. รับทราบผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ไทย ปี 2563 คะแนนเฉลี่ย 67.90 คะแนน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1.15 คะแนน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ รับทราบผลการประเมิน ITA ของไทย ปี 2563 มีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมประเทศอยู่ที่ 67.90 คะแนน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1.15 คะแนน จำนวนหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 1,095 หน่วยงานหรือร้อยละ 13.19

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรายงานถึงตัวชี้วัดที่ฉุดรั้งให้ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในภาพรวมระดับประเทศ คือ การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่ครบถ้วน ซึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ 6 ข้อเร่งด่วน เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะและการป้องกันการทุจริตอย่าง ประกอบด้วย 

                   

1) เร่งให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลและบริการผ่านระบบสารสนเทศ 2) กำหนดตัวชี้วัดการกำกับดูแลการประเมิน ITA ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ 3) สนับสนุนการออกแบบโครงสร้างของเว็บไซต์และส่วนต่อประสานกับผู้ใช้งานเว็บไซต์ (User Interface) ที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านระบบสารสนเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน 4) สร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการพัฒนาและยกระดับการเปิดเผยข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านระบบสารสนเทศ 5) สนับสนุนงบประมาณในการผลิตสื่อออนไลน์หรือรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาในการเสริมสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ขององค์กรหรือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศในการเปิดเผยข้อมูลและให้บริการประชาชน และ 6) กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการให้บริการสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน

อนึ่ง หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีจำนวน 8,303 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลถึง 1,301,665 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาร้อยละ 29.36 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการตื่นตัวต่อประเด็นการต่อต้านการทุจริตมากยิ่งขึ้น และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการภาครัฐเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น