'เครือข่ายภาคปชช.'ร้องกมธ.สภาฯสอบปมย้ายแกนนำม็อบยามวิกาล
"เครือข่ายภาคประชาชน" ร้องกมธ.กฎหมาย สภาฯ สอบระเบียบกรมราชทัณฑ์ ปมย้ายแกนนำม็อบยามวิกาล. .
ที่อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม เเละสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก น.ส.ทิพอัปสร แก้วมณี ตัวเเทนเครือข่ายภาคประชาชนประกอบด้วย ครอบครัวผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เเละครอบผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ประชาธิปไตย รวมไปถึงครอบครัวของผู้ที่ถูกกระทำให้สูญหาย
โดยรังสิมันต์ กล่าวว่า อย่างที่เราได้ทราบว่า ได้มีจดหมายลายมือของทนายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ต้องหาจากคดีมาตรา 112 ที่เรียกร้องให้ประชาชนคุ้มครองผู้ถูกคุมขังคดี 112 จำนวน 2 ราย คือนายจุตรภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาว ดิน และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง จากการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ที่ปลุกผู้ต้องหากลางดึก โดยอ้าวว่าจะนำไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนั้น ผิดวิสัยของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์
ส่อให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการลอบประทุษร้ายและละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
ขณะที่ตัวเเทนเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า พวกเราเป็นภาคประชาชนเเละครอบครัวที่ได้รับผลจากอำนาจไม่เป็นธรรม ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของการกระทำที่เกิดขึ้น จากจดหมายลายมือของทนายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ต้องหาจากคดี 112 ที่ได้ยื่นคำเเถลงต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ที่มีใจความว่าเจ้าหน้าที่พยายามเคลื่อนตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษ โดยท้ายข้อความระบุว่า ขอเรียกร้องเพื่อให้ประชาชนร่วมคุ้มครองเพื่อนของพวกเขา
โดยพฤติกรรมในวันดังกล่าว เป็นการประพฤติในยามวิกาล โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเพื่อจะนำผู้ต้องหาสองราย คือนายจตุรภัทร์ บุญภัทรรักษา เเละนายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โดยอ้างว่าจะนำผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้นเป็นการกระทำในยามวิกาล เเละเป็นการปฏิบัติการที่ใช้กำลังพลมากกว่าปกติ จึงเป็นเหตุให้เหตุการณ์การดังกล่าว ส่อให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่จะกระทำการประทุษร้ายหรือไม่ โดยการกระทำดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจสอบ
ขอความกรุณาจากคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม เเละสิทธิมนุษชน สภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้กรมราชทัณฑ์เปิดภาพจากล้องวงจรปิด ในคืนที่เกิดเหตุ และให้คณะกรรมาธิการซักถามเหตุการณ์ดังกล่าวที่กระทำผิดระเบียบกรมราชทัณฑ์ 2.ขอให้คณะกรรมาธิการ เรียกตัวบุคคลเจ้าหน้าที่ ทั้งผู้บังคับบัญชาการปฏิบัติ เจ้าหน้าที่กรม ราชทัณฑ์ที่เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่และบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในชุดสีน้ําเงินที่ไม่ระบุชื่อและสังกัดที่ปฏิบัติหน้าที่ในคืนดังกล่าว มาทําการซักถามข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัย
3.) ขอให้คณะกรรมาธิการ อภิปรายหารือ และจัดทํารายงานข้อเสนอแนะในการทบทวน แนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วย
3.1.) การเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาในยามวิกาล โดยไม่มีเหตุจําเป็นเร่งด่วน
3.2.) การใช้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ ที่ไม่ระบุชื่อและสังกัด ร่วมปฏิบัติการในคืนดังกล่าว
3.3.) กรณีเจ้าหน้าที่ ที่อยู่ในเวรปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยปะละเลยให้เกิดเหตุที่นําไปสู่ข้อสงสัยดังกล่าว
3.4.) แนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ในกรณีการเปลี่ยนย้ายแดนคุมขังโดยไม่มีเหตุอันควร เช่น กรณีนายอานนท์ ที่ถูกย้ายแดนคุมขังทุกวัน และกรณีของนายพริษฐ์ ที่ถูก ย้ายแดนคุมขังไปอยู่ร่วมกับนักโทษเด็ดขาด เป็นต้น
3.5.) สิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องขัง ที่ควรได้รับอิสระอย่างเต็มที่ ในการหารือข้อต่อสู้กับ ทนายความ โดยทนายความที่ได้รับอนุญาต หากประสงค์ที่จะสงวนข้อความที่จะทําการหารือกับผู้ต้องขังเป็น ความลับ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ และให้เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระยะที่ไม่สามารถได้ยิน ข้อความการสนทนาได้
3.6.) สิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องขัง ที่ควรจะได้อยู่ร่วมในแดนเดียวกันกับผู้ต้องขังในสํานวนคดี เดียวกัน เพื่อให้สามารถปรึกษาข้อต่อสู้ทางคดีได้อย่างเป็นธรรม
3.7.) พิจารณาข้อหารือ ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนขอเสนอมาตรการความปลอดภัย ให้ผู้ต้องขัง ทุกรายได้อยู่ในพื้นที่ ที่มีมาตรการความปลอดภัย มีกล้องวงจรปิดที่ทนายสามารถสอดส่องดูแลความปลอดภัย ของผู้ต้องขังได้ตลอดเวลา
3.8.) พิจารณาข้อหารือ ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนขอเสนอมาตรการความปลอดภัย ในกรณีที่มี ความจําเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ควรมีกรจัดพื้นที่เฉพาะ ภายใต้มาตรการความปลอดภัยสูงสุด
“ โดยในวันนี้เครือข่ายภาคประชาชน ล่ารายชื่อ 7,000 กว่ารายชื่อ พร้อมขอบคุณส.ส.รังสิมันตต์ โรม เเละส.ส.’พรรคก้าวไดล ที่ชูรูปผู้ต้องหาจากคดีมาตรา 112 ซึ่ง ตนดิฉันมองว่ามันไม่ได้เป็นการกระทำที่ไร้มารยาท เทียบกับการที่นำตัวผู้คุมขังออกไปยามวิกาล “น.ส.ทิปอัปสร กล่าว.
ด้านโฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนจะรับเรื่องไว้เเละหารือต่อคณะกรรมาธิการ
โดยหลังนี้ทางคณะกรรมาธิการจะหารือ เพื่อเตรียมลงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อซักถาม ถึงมาตรการของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ปฏิบัติในเรือนจำ โดยสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เราไม่สามารถเรียกกระบวนการเหล่านั้นได้ว่าเป็นกระบวนการยุติธรรม เเต่มันคือกระบวนการอยุติธรรม รังสิมันต์กล่าว