'โฮปเวลล์' ค่าโง่ที่ไม่สมควรจ่าย
มหากาพย์โฮปเวลล์กว่า 13 ปี ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ปี 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจทำให้มติศาลปกครองสูงสุดที่ให้จ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วานนี้ (17 มี.ค.2564) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2545 เกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มี.ค.2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะแม้เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง
การลงมติครั้งนี้ อาจทำให้มติศาลปกครองสูงสุดที่ให้จ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกระทรวงคมนาคม การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มีผลต่อการที่กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท สามารถยื่นรื้อคดีใหม่ เพราะมีหลักฐานใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ มีการยื่นหลักฐานขอรื้อคดี โดยอ้างพบว่าบริษัทโฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง
สำหรับมหากาพย์โฮปเวลล์กว่า 13 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.2551 อนุญาโตตุลาการ ให้กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.จ่ายค่าเสียหายแก่บริษัทโฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 13 มี.ค.2557 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ วันที่ 22 เม.ย.2562 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษา ให้จ่ายค่าโฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ยรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท วันที่ 22 พ.ย.2562 เสนอ ครม.สู้คดีต่อ วันที่ 22 ก.ค.63 ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณา
เราเห็นว่า มติเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นข่าวดีของประเทศ สามารถนำไปสู่การลดความเสียหายของภาครัฐและประชาชน การกระทำครั้งนี้น่าจะนำไปสู่แสงสว่างปลายอุโมงค์เหมือนที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิ มนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของศาลปกครองสูงสุด โฆษกศาลให้ความเห็นในหลักการโดยระบุว่า หากได้พิจารณาคำวินิจฉัยเต็มของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่าเข้าเกณฑ์พิจารณาใหม่ตามมาตรา 75 ก็จะรับพิจารณาคดีใหม่ แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ถึงจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องยก หรือไม่รับคำขอเหมือนกับคดีที่แล้ว เรายอมรับว่าคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท ยังมีขั้นตอนอีกหลายด่านจึงจะได้คำตอบสุดท้าย แต่เรามีความเห็นว่าบนผืนแผ่นดินนี้ คนไทยหรือหน่วยงานใดก็ตาม ย่อมมีหน้าที่ปกป้องพิทักษ์ไว้ซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง