เปิดไพ่ม็อบ 'ดื้อแพ่ง' เดินเกม 'อารยะขัดขืน'
เส้นทาง "สันติวิธี-อารยะขัดขืน" ตามที่ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" เชื่อว่าจะเป็นกระดูกสันหลังแห่งการเคลื่อนไหวที่ชอบธรรมมากกว่า การยกระดับการชุมนุมที่ "เข้าทาง" เจ้าหน้าที่รัฐ
กลับมาเป็นแนวหน้าจัดชุมนุมอีกครั้งสำหรับกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. โดย "เบนจา อะปัญ" อีกหนึ่งสมาชิกกลุ่มทำหน้าที่ แทนแกนนำหลัก พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อานนท์ นําภา ภาณุพงศ์ จาดนอก ยังถูกฝากขังจากคดีชุมนุม "19 กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร"
การกลับมาจัดชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน หลังจากเมื่อวันที่ 20 ก.พ. "แนวร่วม มธ." เคยนัดชุมนุม "อภิปรายนอกสภา" ที่หน้าอาคารรัฐสภา ถนนสามเสน ซึ่งในช่วงนั้นเป็นสถานการณ์ที่แกนนำหลายคน ทยอยนำตัวถูกฝากขังในเรือนจำกรุงเทพฯ
ระหว่างนั้นที่กลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" กลับมาเคลื่อนไหวและประกาศผันตัวชุมนุมในนามกลุ่ม Redem โดยไม่มีแกนนำและการ์ดดูแลมวลชน แต่จากเหตุชุมนุมที่ไร้แกนนำและไม่มียุทธวิธีเคลื่อนไหวชัดเจน ได้เกิดเหตุปะทะที่บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 และ "สนามหลวง" ทำให้มวลชนอีกด้านออกมาสะท้อนจุดยืน "ไม่นิยมความรุนแรง" เพื่อให้การชุมนุมไม่ว่าม็อบกลุ่มใดต้องยืนบนแนวทางสันติวิธีต่อไป
ถัดมาไม่กี่วันที่ "แนวร่วม มธ." ได้ปรับยุทธวิธีสอดรับเสียงเรียกร้องในการรณรงค์ชุมนุม "สันติวิธี" ในพื้นที่ชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 23 มี.ค. โดยเฉพาะการแจกใบปลิวหัวข้อ "ทำไม ? ต้องสันติวิธีมากกว่าความรุนแรง"
โดยเฉพาะสถิติที่ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" นำมาเสนอต่อมวลชนพบว่า ตลอดการชุมนุมทั่วโลกระหว่างปี ค.ศ.1900-2006 มีจำนวน 323 การชุมนุมมีผลชี้ความสำเร็จด้วยแนวทางสันติวิธีที่ 53 % ส่วนการใช้ความรุนแรงมีผลชี้ความสำเร็จที่น้อยกว่าที่ 26 %
แต่สิ่งที่ระบุไว้มีประเด็นที่ระบุว่า ถึงแม้จะไม่มีการรับประกันได้ว่าการชุมนุมแบบสันติวิธีจะไม่ถูกตอบโต้จากฝ่ายตรงข้าม แต่การใช้สันติวิธีจะ "รักษาความชอบธรรม" ให้ขบวนการเคลื่อนไหวและลดทอนการใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรมจากรัฐ โดยวิธีนี้จะสามารถโน้มน้าวกลุ่มที่อยู่ "ตรงกลาง" และฝ่ายคัดค้านให้มาร่วมขบวนการเคลื่อนไหว
ตรงกันข้ามหากมวลชนใช้ "ความรุนแรง" ในขบวนการเคลื่อนไหวจะ "เปิดช่อง" ให้ภาครัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมได้อย่างชอบธรรม และปิดโอกาสโน้มน้าวให้อีกฝ่ายมาร่วมการเคลื่อนไหวกับมวลชน
ขณะเดียวกัน "ยุทธวิธี" ที่กลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" เชื่อถึงวิธีการและผลลัพธ์ทางการเมือง ไม่สามารถแยกออกจากกัน แต่ผลจากการเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธี จะเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีแนวโน้มความเป็นประชาธิปไตยที่ลงหลักตั้งมั่นมากกว่าผลจากการใช้ความรุนแรง
ที่สำคัญในใบปลิวที่ถูกแจกที่สี่แยกราชประสงค์ ยังมีข้อเสนอ มาจาก Albert Einstein Institution(AEI) หรือ "องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาวิธีการต่อต้านอย่างไม่รุนแรงในความขัดแย้ง" ตั้งอยู่ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปีค.ศ.1983 รวบรวมโดย "ยีน ชาร์ป" ผู้ก่อตั้ง AEI ที่รวบรวมไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ที่ชื่อว่า The Politics of Nonviolent Action ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1973
โดยตอนหนึ่งที่ "แนวร่วม มธ." ได้หยิบยกเนื้อหาที่นำมาจากหนังเล่มนี้ในหัวข้อ "198 วิธี" เพื่อการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อเป็นไอเดียให้มวลชน อาทิ การออกคำแถลงการณ์ การชุมนุมในที่สาธารณะ การทาสี การแสดงธงสัญลักษณ์ การแสดงละคร การแสดงสัญลักษณ์ไว้ทุกข์ทางการเมือง การล้อเลียน การแจกแบนเนอร์ โปสเตอร์ แผ่นพับ การถอนเงินฝากธนาคาร การคว่ำบาตรและขึ้นบัญชีดำผู้ค้า การนัดหยุดงาน การคว่ำบาตทางโซเชียลมีเดีย การดื้อแพ่ง "อารยะขัดขืน" กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม หรือการใช้ร่างกายขัดขวางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน
ไม่ใช่แค่นั้นในคู่มือ "แนวร่วม มธ." ยังเตือนถึงการเตรียมความพร้อมหากต้อง "เผชิญเหตุรุนแรง" ในระหว่างชุมนุม 2 กรณี 1.เมื่อพบเห็นความรุนแรงไม่ว่ามาจากฝ่ายใดให้ช่วยกันระงับเหตุด้วยวิธีการสงบไม่รุนแรง
2.หากฝ่ายตรงข้ามจะใช้ความรุนแรง ควรหลีกเลี่ยง หรือประกาศยุติการชุมนุมเพื่อปิดโอกาสการปะทะ รวมถึงทำให้การทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้ความรุนแรงขัดข้อง เช่น รถฉีดน้ำแรงดังสูง หรือรถคลื่นเสียงความถี่สูง
ทั้งหมดเป็นแนวทางประกาศเดินตามเส้นทาง "สันติวิธี-อารยะขัดขืน" ตามที่ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" เชื่อว่าจะเป็นกระดูกสันหลังแห่งการเคลื่อนไหวที่ชอบธรรมมากกว่า การยกระดับการชุมนุมที่ "เข้าทาง" เจ้าหน้าที่รัฐพร้อมใช้กฎหมายเข้ากระชับพื้นที่ได้ทุกเมื่อ.