โลกต่อต้าน 'รัฐประหาร' กดดันสัมพันธ์ 'ทหารไทย-เมียนมา'

 โลกต่อต้าน 'รัฐประหาร' กดดันสัมพันธ์ 'ทหารไทย-เมียนมา'

'รัฐประหารเมียนมา' ต้องแยกให้ออกว่า เป็นเรื่องการเมือง แต่ในระดับชายแดนคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกองทัพของ 2 ประเทศ ไม่ใช่ใช้เรื่องกระแสการเมืองในเมียนมา มากดดันการทำงานของหน่วยตามแนวชายแดน

เหตุการณ์รัฐประหารใน “เมียนมา” ที่ยังคงปรากฏเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารและประชาชนอย่างรุนแรงต่อเนื่อง แม้ “ไทย” จะไม่มีส่วน “ได้-เสีย” แต่ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกัน 2,401 กิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ย่อมได้รับผลกระทบมากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการอพยพข้ามแนวชายแดนเข้ามา ทำให้ทางการไทยต้องเตรียมการดูแลช่วยเหลือในด้านสิทธิมนุษยชน

 ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ “หน่วยงานความมั่นคงไทย” ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำหน้าที่สนับสนุนเสบียงให้กับ “ทหารเมียนมา” ที่อยู่ตามฐานปฎิบัติการชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ในสภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก หลังกองกำลังทหาร “กะเหรี่ยงเคเอ็นยู” ปิดเส้นทางลำเลียงและเชื่อมต่อกับกองทัพจากส่วนกลาง

ทุกสายตาจับจ้องมายัง “ทหารไทย” ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ตามแนวชายแดนและมีความสัมพันธ์อันดีกับทหารเมียนมาในระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังผาเมือง กองกำลังนเรศวร กองกำลังสุรสีห์ กองกำลังเทพสตรี จึงตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

การ “ซื้อ-ขาย” ตามแนวชายแดนบริเวณจุดผ่อนปรนต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต
ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งมีการข้ามแดนไปมาหาสู่ อีกทั้งการซื้อขายไม่ได้เกิดเฉพาะประชาชนชาวเมียนมาและชาวไทยเท่านั้น ยังหมายร่วมถึง“ทหารเมียนมา” ด้วยเช่นกัน


แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาด “โควิด-19” การผ่านเข้า-ออก ตามจุดผ่อนปรนต่างๆ จึงเริ่มเข้มงวดตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข และส่งผลกระทบต่อการค้าขายตามแนวชายแดน ที่ต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง และขั้นตอนอื่นอีกมากมาย ทำให้การส่งสินค้าล่าช้า ไม่ทันความต้องการผู้บริโภค

เช่นเดียวกับทหารเมียนมาในฐานะเป็นลูกค้ารายหนึ่ง ซึ่งได้รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประชาชนทั่วไป จึงอาศัยความสัมพันธ์ทางทหารในระดับพื้นที่ เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา หรือ TBC ช่วยอำนวยความสะดวกประสานงาน เพื่อให้สินค้าจำเป็นต่อการอุปโภค-บริโภค ไปถึงหน่วยทหารตั้งฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดนอยู่ห่างไกลจากส่วนกลาง

จากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ “รัฐประหาร”ในเมียนมา และเป็นที่มาของกระแสต่อต้านจากสังคมโลก ดังนั้นการที่ทหารไทยอำนวยความสะดวกให้ทหารเมียนมา ซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคตามแนวชายแดน ไม่ว่าจะในฐานะเพื่อน คนคุ้นเคย หรืออาศัยความสัมพันธ์ที่ดี จึงส่งผลกระทบตามมาอย่างคาดไม่ถึง

พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่า นี่ไม่ใช่การช่วยเหลือ และไม่เกี่ยวกับหลักมนุษยธรรม เพียงแต่เขาขอซื้ออาหารจากฝั่งไทย ส่งไปให้ลูกน้องที่อยู่ตามฐานปฏิบัติการต่างๆ จึงประสานผ่านคณะกรรมการทีบีซี เพื่อขออำนวยความสะดวก เช่นเดียวกับที่มีคนไทยติดค้างอยู่ในเมียนมา ทหารไทยก็ใช้ช่องทางดังกล่าวประสานผ่านไปยังทหารเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวก

“เป็นการตีข่าวไปในทางที่ผิดๆ ผมขอย้ำว่าทหารไทยไม่ได้เป็นผู้จัดหาเสบียงส่งไปให้ทหารเมียนมา ถ้าไม่มีรัฐประหารในเมียนมาก็จะไม่เป็นประเด็น เพราะเรื่องนี้มีมานานแล้ว แต่พอมีกระแสแอนตี้รัฐบาลทหารเมียนมา จึงทำเกิดผลกระทบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว”

แม่ทัพภาคที่ 3 ยังชี้แจงต่อว่า เป็นเรื่องปกติในพื้นที่ที่ทหารไทยกับ ทหารเมียนมา เราปฏิบัติงานตามแนวชายแดนเพื่อรักษาอธิปไตยของประเทศตัวเองตามหน้าที่ โดยใช้วิธีการถ้อยทีถ้อยอาศัย ส่วนหนึ่งเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศ รวมถึงความสงบสุขของประชาชนตามแนวชายแดน




“เมื่อเกิดรัฐประหารในเมียนมา ต้องแยกให้ออกว่า เป็นเรื่องการเมือง แต่ในระดับชายแดนคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกองทัพของ 2 ประเทศ ไม่ใช่ใช้เรื่องกระแสการเมืองในเมียนมา มากดดันการทำงานของหน่วยตามแนวชายแดน ที่ทำหน้าที่ประสานงาน เพื่อให้สถานการณ์ชายแดนดีขึ้น ไม่ให้ประชาชนเกิดความขัดแย้ง อยู่ดีๆ จะให้ทหารไทยไปตั้งป้อม หรือมีปัญหากับทหารเมียนมา หรือให้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทำไม”

สำหรับคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา หรือ TBC มีเจ้าหน้าที่ทหาร ฝั่งไทย-เมียนมา ในแต่ละพื้นที่เป็นประธาน โดยมีนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศุลกากร กรมทางหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแม่สอด กรมเจ้าท่า ฯลฯ

จุดประสงค์ของคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา หรือ TBC เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันของทั้งสองประเทศ ร่วมทั้งประสานความร่วมมือแลกเปลี่ยนข่าวสารและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งการรณรงค์ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การค้าอาวุธสงคราม การขนส่งสินค้าผ่านแดน แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง การเดินทางเข้า-ออก มาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 เป็นต้น

หลังเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา จนส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานหน่วยทหารตามแนวชายแดนของไทย จึงเห็นได้ว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เต็มไปด้วยความระมัดระวัง โดยทั้งยึดมั่นนโยบายเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองกองทัพตามแนวชายแดน และบางครั้งก็เล่นบทตามกระแสสังคมโลก