9 แคมป์ ‘ผู้อพยพเมียนมา’ 40 ปี ไทยแบกรับ 'ภาระถาวร'
"การรับผู้อพยพหนีภัยการสู้รบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ในแง่มนุษยธรรมถือว่ารับได้" พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
ท่ามกลางปัญหาผู้อพยพหนีภัยการสู้รบจากชายแดนเมียนมาทะลักเข้าไทย กำลังถูกลากไปเป็นประเด็นการเมืองก่นด่ารัฐบาลและกองทัพว่าไร้มนุษยธรรม เพราะมุ่งแต่ผลักดันกลับ ไม่ยอมรับ “ผู้ลี้ภัย” ไว้ดูแลนั้น
มีข้อมูลของ "หน่วยงานความมั่นคง" ที่หลายฝ่ายอาจจะมองข้ามไปว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยเป็นพื้นที่รองรับ “ผู้หนีภัยการสู้รบ” จากประเทศเมียนมามานานหลายสิบปีแล้ว และปัจจุบันก็ยังมี “ศูนย์พักพิงชั่วคราว” กระจายอยู่ตามแนวชายแดนมากถึง 9 ศูนย์ และมี “ผู้หนีภัยการสู้รบ” ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็น “ผู้ลี้ภัย” อาศัยอยู่ตามพื้นที่พักพิงฯต่างๆ นับแสนคน
สาเหตุเกิดจากการสู้รบในเมียนมาที่กองทัพเปิดฉากต่อสู้กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยสารพัดกลุ่ม เป็นปัญหาภายในของเมียนมายาวนานหลายสิบปี เฉพาะที่มี “ผู้หนีภัย” ทะลักเข้ามาจำนวนมากก็เป็นช่วงเกือบ 40 ปีที่แล้ว จึงมีการตั้ง “พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา” ขึ้นมา และจัดระเบียบจนเหลือ 9 ศูนย์ใหญ่ที่ยังยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย
1. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นศูนย์ใหญ่ที่สุด มีผู้หนีภัยอาศัยอยู่กว่า 4 หมื่นคน หลักๆ เป็นกะเหรี่ยงคริสต์ หรือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู
2. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก มีผู้หนีภัยอาศัยอยู่กว่า 1 หมื่นคนเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ได้มีเฉพาะกะเหรี่ยง เช่น กลุ่มมุสลิม กลุ่มมอญ กลุ่มอาระกัน กลุ่มปะโอ กลุ่มระหุ กลุ่มฉาน กลุ่มคะยา กลุ่มคะฉิ่น กลุ่มปะหล่อง กลุ่มชิน เป็นต้น
3. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีผู้หนีภัยอยู่กว่า 1 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงเคเอ็นยู
4. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้หนีภัยหลายชาติพันธุ์ กว่า 1 หมื่นคนเช่นกัน
5. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
6. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง
7. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
8. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
และ 9. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
รวมทั้ง 9 ศูนย์ฯ มีผู้หนีภัยการสู้รบมากกว่า 1 แสนคน บางศูนย์อยู่กันนานหลายสิบปีจนกลายเป็นบ้าน ที่เคยเรียกว่า “พื้นที่พักพิงชั่วคราว” จริงๆ แล้วกลายเป็น “พื้นที่ถาวร”
บางส่วนมีปัญหาด้านสุขภาวะ และเคยถูกเพลิงไหม้ อย่างเช่น ที่บ้านแม่สุริน จ.แม่ฮ่องสอน ก็เคยถูกเพลิงไหม้เมื่อปี 56 มีผู้เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บนับร้อย
ส่วนที่ศูนย์พักพิงฯใหญ่ที่สุดที่บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง เพิ่งเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ทำให้กระท่อมของผู้หนีภัย วอดไปกว่า 100 หลังคาเรือน
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการปิดศูนย์พักพิงชาวม้งลาวกว่า 7,800 คน ที่บ้านห้วยน้ำขาว อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ บอกกับทีมข่าวว่า ศูนย์พักพิงฯ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคือ 37 ปี โดยศูนย์พักพิงฯ หรือ “แคมป์ผู้อพยพ”
เหล่านี้ ปัจจุบันยังกระจายอยู่ใน 4 จังหวัดชายแดนไทย-เมียนมา คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งสภาพปัจจุบันต้องบอกว่าไร้การควบคุมและไม่มีใครสนใจ การเจรจาส่งคนเหล่านี้กลับประเทศไม่มีความคืบหน้าเลย และเมื่อมีการสู้รบก็จะมีคนทะลักเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย ตัวเลขจึงขึ้นลงตลอดล่าสุดช่วง 2-3 วันนี้ก็มีเข้ามา ทั้งที่ของเก่า 37 ปียังเคลียร์ไม่หมด
พล.อ.นิพัทธ์ ระบุว่า สภาพของศูนย์พักพิงฯ กลายเป็นแหล่งทำมาหากินของบางกลุ่ม บางหน่วยงาน ทั้งขายข้าว ขายน้ำ บัตรเติมเงินโทรศัพท์ และยังเป็นที่ซ่องสุม ค้ามนุษย์ อาวุธสงคราม ยาเสพติด และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนชุมชนคนไทยที่อยู่ใกล้เคียง เพราะคนเหล่านี้ถือว่าอยู่ถาวร ไม่ใช่ “พักพิงชั่วคราว” ตามชื่อ
ฉะนั้นการรับผู้อพยพหนีภัยการสู้รบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ในแง่มนุษยธรรมถือว่ารับได้ แต่อย่าคิดตั้งศูนย์ หรือเปิดพื้นที่พักพิง อย่าไปเชื่อต่างชาติ โดยเฉพาะยูเอ็น ปากหวาน ชื่นชมไทยใจดี มีน้ำใจ แต่พอชมแล้วก็จากไป ลองคิดดูว่าเด็กเกิดเมื่อตอนตั้งศูนย์พักพิงฯ อยู่ถึงวันนี้ก็อายุ 37 ปีแล้ว คิดว่าเด็กจะไปไหนและอยู่อย่างไร
อยากให้ สมช. หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาล ใช้มาตรการชั่วคราว คืออำนวยความสะดวกเบื้องต้น แล้วส่งกลับให้เร็วที่สุด ทำทุกอย่างให้เป็น “ชั่วคราว” จริงๆ และต้องเข้าใจว่า การรับผู้อพยพ หรือผู้หนีภัยสงคราม เป็นเพียงปลายเหตุ เนื่องจากต้นเหตุคือกองทัพเมียนมาที่เข้าควบคุมอำนาจและปราบปรามประชาชน ต้องไปแก้ตรงจุดนั้น ถ้าแก้ได้ ปัญหาผู้หนีภัยสงครามก็จะไม่เกิด ฉะนั้นต้องไปคุยกับเมียนมาให้ชัดเจน เนื่องจากของเก่าก็ยังเหลืออยู่ในแผ่นดินไทยอีกเป็นแสนคน
ที่ผ่านมา ที่เมียนมามีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ฝ่ายไทยก็คิดว่าน่าจะเจรจาได้ผลง่ายขึ้น แต่ทุกอย่างกลับติดขัด เนื่องจากทางเมียนมาอ้างว่าต้องพิสูจน์สัญชาติ และต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ในเมียนมาจึงจะรับกลับ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากปัญหาเรื้อรังมานาน ทำให้คนเหล่านี้ก็ยังอยู่ในประเทศไทย การแก้ปัญหาจึงต้องจริงจังและทำต่อเนื่อง
พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาผู้อพยพ หรือผู้หนีภัยการสู้รบที่ไทยต้องแบกรับภาระเหมือน “ม้าอารีย์” ถูกละเลยมานาน แม้แต่ทหารที่ไม่เคยไปรับราชการในพื้นที่นั้นๆ ก็ไม่รู้ว่ามีปัญหานี้อยู่ เพราะทุกคนลืมไปหมดแล้ว จึงขอให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลคิดพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจดำเนินนโยบาย