กทม.สั่งปิดสถานบริการทั่วกรุงฯ ตามมติ ศบค.
กทม.สั่งปิดสถานบริการทั่วกรุงฯ ตามมติ "ศบค." ยันเตรียม "โรงพยาบาลสนาม" พร้อมรับมือ
วันที่ 9 เม.ย. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2564 ว่า ตามที่ ศบค.ได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 19) ให้ปิดสถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งอยู่ในจังหวัดที่พบการระบาดจำนวนมาก และมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้ปิดดำเนินการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน ใน 41 จังหวัด ซึ่งกรุงเทพฯ เป็น 1 จังหวัดในนั้น
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจเพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จึงมีมติให้ปิดสถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน โดยในส่วนของสถานบันเทิงหรือสถานประกอบการที่ กทม. สั่งปิดไปก่อนหน้านี้ ต้องปิดชั่วคราวต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า ส่วนกิจการอื่นๆ เช่น ร้านอาหารยังสามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ กทม.กำหนด อาทิ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันตรวจพื้นที่ การจัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งแนะนำร้านค้าให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากกิจการใดมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค คณะกรรมการฯ จะพิจารณาสั่งปิดเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม กทม.เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยโควิด 3 ขั้น ประกอบด้วย
1.ขยายศักยภาพโรงพยาบาลใน กทม.ให้เป็นลักษณะกึ่งโรงพยาบาลสนาม พร้อมจะรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดถึง 1,358 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ 208 คน โดยสามารถรองรับได้ 1,150 เตียง เช่น ศูนย์กีฬาฯ บางมด 200 เตียง โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 500 เตียง และยังมีโรงพยาบาลเครือข่ายโรงพยาบาลใน กทม.ที่มีศักยภาพรรองรับผู้ป่วยได้อีก 4,800 เตียง ผู้รักษาอยู่ 1,271 คน สามารถรองรับได้ 3,600 เตียง
2.กรณีเตียงเหล่านี้ไม่พอ เตรียมโรงแรมไว้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ให้รักษาตัวในโรงแรมที่เราจัดหาไว้ให้ หรือเรียกว่า Hospitel เนื่องจากการรักษา covid-19 ปกติจะให้รักษาตามอาการ กล่าวคือ อยู่ โรงพยาบาลดูอาการ ถ้ามีอาการอะไรค่อยรักษา แต่หากไม่เป็นไรก็ให้กักตัว ซึ่ง กทม.ได้จัดหาโรงแรมพร้อมสำหรับการรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หากเตียงไม่พอ
3.กรณีผู้ป่วยมาก จนต้องตั้งโรงพยาบาลสนาม กทม.ได้เตรียมสถานที่พร้อมตั้ง โรงพยาบาลสนามแบบสมุทรสาครแล้ว
“กทม.พร้อมรับมือการดูแลผู้ป่วยโควิด โดยร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ครับ”ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว