ฝันฤดูร้อน "ทัพสหพันธรัฐ" ความหวังหนุ่มสาวชาวเมียนมา

 ฝันฤดูร้อน "ทัพสหพันธรัฐ" ความหวังหนุ่มสาวชาวเมียนมา

จอมเผด็จการ “มินอ่องหล่าย” ยังเดินหน้าปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ยอดผู้เสียชีวิตทะลุพันศพ ในช่วงหลังสงกรานต์นี้แน่นอน

นักวิเคราะห์สถานการณ์ฝั่งตะวันตกมองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา มีแนวโน้มจะเกิด “สงครามกลางเมือง” ไม่ต่างจากซีเรีย ส่วนประชาชนเมียนที่ต่อสู้กับเผด็จการทหาร ทนเห็นการเข่นฆ่าเช่นผักปลาไม่ไหว จึงเรียกร้องให้กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวกันเป็น “กองทัพสหพันธรัฐ” เพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์

ความฝันของคนหนุ่มสาวเมียนมา อยากเห็นการลุกฮือของประชาชน ประสานกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ดำเนินสงครามประชาชน เป็นหนทางเดียวที่จะโค่นล้มระบอบตั๊ดมะด่อหรือกองทัพเมียนมาได้

คณะกรรมการผู้แทนแห่งสหภาพ (CRPH) หรือรัฐบาลคู่ขนาน ได้ขายฝันการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ ด้วยข้อเสนอ “กองทัพสหพันธรัฐ” (federal army) ซึ่งมีการพูดคุยระหว่างตัวแทนพรรคเอ็นแอลดีกับผู้นำชาติพันธุ์บางกลุ่มไปแล้ว
           

รูปธรรมแห่งการก่อรูป “กองทัพสหพันธรัฐ” นั้น คนหนุ่มสาวชาวเมียนมาฝากความหวังไว้กับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 10 กลุ่ม ที่มีสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เป็นแกนกลาง

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2564 พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) ในฐานะหัวหน้าทีมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ (PPST) ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์กับ 9 ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อหารือถึงสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมา

การประชุมครั้งนี้ ตัวแทน 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้หารือถึงแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ร่วมการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ (Spring Revulation)

การขยับตัวของ “เจ้ายอดศึก” และคณะ PPST ไม่ได้ทำให้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มีความกังวล เนื่องจากกองทัพเมียนมา รู้ดีว่า เจ้ายอดศึก ได้ใช้ จ.เชียงใหม่ เป็นจุดประสานงาน 10 กลุ่มชาติพันธุ์

ที่มั่นของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) หรือทหารไทใหญ่ใต้ ก็อยู่ตามแนวชายแดนเมียน-ไทย ด้าน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน

วันที่ 8 เม.ย.2564 สภาบริหารภาครัฐ (SAC) จึงส่งคณะนายทหารฝ่ายพูดคุยเพื่อสันติภาพเดินทางไปยังบ้านไฮ เขตเมืองเกซี แขวงล๋อยแหลม รัฐฉานตอนใต้ เพื่อเข้าพบและหารือกับผู้นำระดับสูงของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA)
 

พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพไทใหญ่เหนือ นำโดย ป่างฟ้า เคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และได้แยกตัวออกมาตั้งกองกำลังของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐว้า (UWSA)
         

3-4 ปีมานี้ ทหารของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) ได้ทำการสู้รบกับทหารของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) อยู่เป็นประจำ จนชาวบ้านในรัฐฉานเรียกว่า สงครามไทใหญ่ และไม่ค่อยพอใจที่ทหารไทใหญ่ฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้รบกันเอง
       

แม้แต่ในเวลานี้ ทหารไทใหญ่เหนือ (SSPP/SSA) ยังเปิดศึกโจมตีทหารใหญ่ใต้(RCSS/SSA) ของเจ้ายอดศึก ในพื้นที่แขวงจ้อกแม รัฐฉานตอนเหนือ
       

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารภาครัฐ (SAC) ยังรู้สึกมั่นใจว่า คุมสถานการณ์ในประเทศได้ และไม่คิดว่า กองทัพสหพันธรัฐ จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้
 

เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอำนาจต่อรองสูงคือ พรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้า(UWSP/UWSA) ซึ่งมีกำลังพล 30,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ยังสงบนิ่ง และไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อการรัฐประหาร
 

ที่สำคัญ ประชากรในเขตปกครองพิเศษชนชาติว้า ไม่ได้จัดการชุมนุมประท้วง และพวกเขาไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา
       

เหนืออื่นใด กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) และกองทัพไทใหญ่เหนือ (SSPP/SSA) มีความใกล้ชิดกับจีนเป็นพิเศษ เพราะในอดีต พวกเขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน
     

กองทัพสหพันธรัฐ อาจเป็นฝันกลางฤดูร้อนของหนุ่มสาวเมียนมา เมื่อกองทัพชาติพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ใต้อาณัติมหาอำนาจจีน