'ศูนย์เอราวัณ' เร่งเคลียร์ผู้ป่วย 'โควิด' ตกค้าง นำส่ง รพ.วันต่อวัน
"ศูนย์เอราวัณ" กทม.เร่งเคลียร์ผู้ป่วย "โควิด" ตกค้างในกรุงเทพฯ นำส่งโรงพยาบาลวันต่อวัน เร่งปรับพื้นที่สนามกีฬาทุ่งครุเป็น รพ.สนาม 400 เตียง
วันที่ 27 เม.ย. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำส่งผู้ป่วยของศูนย์เอราวัณ ว่าวานนี้(26 เม.ย.) ศูนย์เอราวัณ กทม. ร่วมกับเครือข่ายดำเนินการนำส่งผู้ป่วยโควิดเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล รวมจำนวน287 ราย เป็นผู้ป่วยตกค้างที่รอเข้ารับเข้าสู่ระบบการรักษา จากเมื่อวันที่ 25 เม.ย. จำนวน 222 ราย และเข้ามาเพิ่มเมื่อวันที่ 26 เม.ย. จำนวน 102 ราย คงเหลือผู้ป่วยตกค้างที่รอเข้ารับเข้าสู่ระบบการรักษา จำนวน 37 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่ตกค้างส่วนใหญ่มีข้อบ่งชี้ที่ยังไปรับไม่ได้ อาทิ เป็นกลุ่มครอบครัว เด็ก ผู้สูงอายุ บางรายเป็นเด็กพิเศษ(ออทิสติก) ทำให้ไม่สามารถนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลสนาม ที่มีการรักษาแบบรวมกลุ่มได้ อาทิ โรงพยาบาลเอราวัณ 1 และโรงพยาบาลเอราวัณ 2
"อย่างไรก็ตาม ศูนย์เอราวัณได้ประสานโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ซึ่งมีพื้นที่บางส่วนที่สามารถรองรับผู้ป่วยแบบเฉพาะกลุ่มได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกับผู้ป่วยเพื่อนำส่ง คาดว่าจะสามารถดำเนินการรับส่งผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษาทั้งหมดได้ภายในวันนี้"นางศิลปสวย ระบุ
นางศิลปสวย กล่าวต่อว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามกทม. ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 1,700 เตียง จากข้อมูลวันที่ 27 เม.ย. ประกอบด้วย โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 1,000 เตียง ครองเตียง 426 เตียง ยังว่างอยู่ 574 เตียง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 200 เตียง ครองเตียง 187 เตียง ยังว่างอยู่ 13 เตียง โรงพยาบาลเอราวัณ 1(ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติบางบอน) 100 เตียง ครองเตียง 59 เตียง ยังว่างอยู่ 41 เตียง และรพ.เอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) 400 เตียง ครองเตียง 214 ยังว่างอยู่186 เตียง และเข้า Hospitel 60 เตียง รวมครองเตียง 947 เตียง เตียงคงเหลือ 814 เตียง
นางศิลปสวย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.เตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ ซึ่งมีอาคารโรงยิมฯ จำนวน 4 อาคาร สามารถจัดแยกเป็นพื้นที่ของผู้ป่วยชาย-หญิง ได้อย่างชัดเจน โดยจะเป็นของผู้ป่วยชาย 2 อาคาร และผู้ป่วยหญิง 2 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 400 เตียง ซึ่งขณะนี้อยู่ปรับปรุงภายในอาคาร งานปูพื้น งานปรับปรุงห้องสำหรับการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ งานปรับปรุงห้องน้ำ และงานวางระบบไฟฟ้าเพื่อติดตั้งพัดลมระบายอากาศ สำหรับงานปรับปรุงบริเวณภายนอกอาคาร อยู่ระหว่างการจัดทำพื้นและขุดวางระบบติดตั้งถังบำบัดสำหรับห้องน้ำโรงพยาบาลสนาม งานโครงสร้างที่พักขยะ และปรับปรุงพื้นที่โดยรอบอาคาร การทดสอบระบบกล้อง cctv งานปรับปรุงระบบสุขาภิบาลภายในอาคาร งานระบบไฟฟ้าของแต่ละเตียงสำหรับผู้ป่วยที่เข้ามาพักรักษาหรือสังเกตอาการ
"กทม.ยังเตรียมความพร้อมด้านระบบอื่นๆ อาทิ ระบบสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม ระบบการกำจัดขยะ การจัดการน้ำเสีย ระบบการซักล้างให้ปลอดเชื้อ รวมถึงด้านการจัดการดูแลผู้ป่วย อาทิ ระบบการลงทะเบียน การสื่อสารทำความเข้าใจ และระบบรักษาความปลอดภัย"นางศิลปสวย กล่าว
ปลัด กทม. กล่าวด้วยว่า สำหรับการนำส่งตัวผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ จะใช้หลักการเดียวกับโรงพยาบาลสนาม กทม.แห่งอื่นๆ โดยจะรับเฉพาะผู้ป่วยโควิดเขียวหรือติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ โดยมอบหมายโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นผู้บริหารจัดการการดูแลผู้ป่วย คาดว่าโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งกทม.ได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จากหน่วยงาน โดยเฉพาะบริษัท SCG ที่สนับสนุนเตียงกระดาษและมุ้ง จำนวน 400 ชุด รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่จะสนับสนุน หมอนที่นอน และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่ง กทม.พยายามดำเนินการให้สถานที่แห่งนี้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อเป็นที่รองรับสำหรับกักตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ต้องแยกจากครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อออกไป