'ผบ.ตร.' เปิดศูนย์ 191 สายด่วนช่วย 'โควิด' บริการ 24 ชม.
'พล.ต.อ.สุวัฒน์' เปิดศูนย์ 191 เพิ่มช่องทางในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วย 'โควิด -19' ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานทางการแพทย์
28 เม.ย.2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผบ.ตร. พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รองผบ.ตร. แถลงข่าวเปิดศูนย์ 191 เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด 19 ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานทางการแพทย์
พล.ต.อ.สุวัฒน์ เปิดเผยว่า หลังรับคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ตำรวจเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ช่วยรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อแบ่งเบาภาระสายด่วน 1168, 1669, 1330 ของหน่วยงานทางการแพทย์ จึงมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ศูนย์เอราวัณ จนได้ข้อสรุป พร้อมเปิดศูนย์ 191 วันนี้ทั่วประเทศ ให้สามารถรับแจ้งข้อมูลป่วยโควิด 19 ซึ่งจะมี 1,200 คู่สาย
มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. โดยจะใช้ระบบ Government Big Data institute (GBDi) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวง DE พัฒนาร่วมกันเพื่อเป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิด 19 ในกรุงเทพฯ หากมีผู้ป่วยโควิด 19 โทรมายังศูนย์ 191 (ศูนย์ผ่านฟ้า บช.น.) เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลผู้แจ้งจากชุดคำถามที่กำหนดโดยกรมควบคุมโรค บันทึกข้อมูลลงระบบ GBDi จากนั้นระบบจะแจ้งไปยังศูนย์ 1668 และ 1669 ทันที
ซึ่งเราได้มีการทดสอบระบบแล้ว สามารถเชื่อมข้อมูลกันได้อย่างดี หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะวิทยุสื่อสารไปยังศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อจัดรถฉุกเฉินมารับตัวผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด หลังจากรับแจ้งเหตุ 30 นาที จะมีการ Call Back ไปยังผู้แจ้ง สอบถามสถานะรับตัวผู้ป่วยอีกครั้งว่าได้รับการบริการหรือยัง หากยังไม่ได้รับการบริการ ก็จะช่วยประสานงานอย่างใกล้ชิด
สำหรับจังหวัดอื่น เจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะประสานโดยตรงไปยังสาธารณสุขจังหวัดหรือหัวหน้าศูนย์ 1669 เพื่อส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย ส่วนวิทยุสื่อสารนั้น จะใช้ระบบดิจิทัล หรือ PS-LTE เนื่องจากมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ซึ่งจะเป็นการรักษาความลับของผู้ป่วยและคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วย อีกทั้งยังทราบพิกัดของผู้ใช้งาน และเปิดกล้องวีดีโอเหมือนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อีกด้วย โดย ตร. ได้สนับสนุนเครื่องวิทยุ PS-LTE ให้กับ สพฉ.จำนวน 100 เครื่อง
เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างรถรับส่งผู้ป่วย และ ศูนย์ทั้ง 3 ศูนย์ (1668, 1669 และ 191) นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนรถยนต์จำนวน 5 คันพร้อมพลขับ เพื่อปฏิบัติภารกิจในการรับส่งผู้ป่วย
กรณีผู้ป่วย ไม่ยินยอมเข้ารับการรักษาหรือกักตัวตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ จะมีตำรวจร่วมกับเจ้าพนักงานควบคุมโรค ไปชี้แจ้งทำความเข้าใจ และเชิญตัวผู้ป่วย หรือผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคต่อไป
หรือหากผู้ป่วยเจตนาหลบเลี่ยงการติดต่อจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค เช่น ปิดโทรศัพท์ หรือ จงใจไม่รับโทรศัพท์ ตำรวจจะช่วยสนับสนุนในการสืบสวนหาตัวผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษา ตรงนี้อยากร้องขอให้ประชาชนเข้าใจว่า เมื่อท่านเป็นผู้ป่วย จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบายไปยังผู้อื่นต่อไป