ตีตก โปรเจคหมื่นล้าน 'แอร์บูล' หั่นงบ 65 'เรือดำน้ำ'ลดฮวบ
'กลาโหม' หั่นงบจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์เหล่าทัพ ช่วยวิกฤติโควิด โละจัดซื้อเครื่องบินลำเลียงซี 130 โปรเจคกว่าหมื่นล้านของ 'กองทัพอากาศ' ลดงบเรือดำน้ำฮวบเหลือ 900 ล้านบาท
กลับมาสร้างแรงกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อีกครั้ง สำหรับการจัดทำแผนงบประมาณปี 2565 ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภายกแรก 26-27 พ.ค.นี้ หลัง ‘ฝ่ายค้าน’เรียกร้องให้ ‘ตัด-เฉือน’ งบฯกลาโหม นำเงินไปแก้ปัญหา ‘โควิด-19’ ช่วยประชาชนอีกครั้ง
ในปี 2563 ‘ฝ่ายค้าน’ ทำสำเร็จสามารถล้มโครงการจัดหา ‘เรือดำน้ำ’ ลำที่สองและสามของ ‘กองทัพเรือ’ และอีกหลายโครงการของทุก ‘กองทัพ’ จนถูกชะลอ พร้อมรวบรวมเงิน 1.8 หมื่นล้านบาทกลับเข้างบกลางให้ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ นำไปแก้ปัญหา ‘โควิด’ในขณะนั้นจนคลี่คลาย
มาปีนี้ ‘โควิด-19’ กลับมาอีกระลอกและทวีความรุนแรงกว่าเดิมทั้งจำนวน ‘ผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิต’ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ ‘เศรษฐกิจ’ที่กำลังจะฟื้นตัว พอที่จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้กลับซบเซาลงอีก และอาจส่งผลไปถึงแผนเปิดประทศ ในขณะที่หลายจังหวัดตัดสินใจ ‘ล็อกดาวน์’ ปิดสถานประกอบการบางชนิด ขอความร่วมมือประชาชนงดออกจากบ้าน
สำหรับกรอบนโยบายการบริหารงบประมาณปี 2565 ของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ มุ่งเน้นความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และต้องสอดคล้องกับความจำเป็น ภายใต้สถานการณ์ ‘โควิด-19’ ขณะเดียวกันต้องรักษาความสมดุลของประเทศทุกมิติ และคงไว้ซึ่งแสนยานุภาพทางการทหารในภูมิภาคอาเซียนผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“แนวทางการปฏิบัติ ตอนนี้ยังไม่มีอะไร เพราะงบประมาณปี 2564 กองทัพได้นำงบมาช่วยเหลือโควิดไปเยอะ ที่ผ่านมากองทัพไม่เคยเบิกงบกลางในการแก้ปัญหาโควิด ในส่วนงบประมาณกองทัพไทย ปี 2565 ถูกตัดไป 11 % ถือว่าเยอะพอสมควร แต่กองทัพก็อยู่ได้ ในส่วนเหล่าทัพอื่นยังไม่มีการตัดยอดเงินในโครงการที่ไม่ได้เป็นงบผูกพัน ซึ่งผมเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส. ระบุถึงข้อเสนอตัดงบกองทัพ 10% จัดหาวัคซีนโควิด
ทั้งนี้ ‘กลาโหม’ ได้เสนองบประมาณปี 2565 อยู่ในระดับต่ำกว่างบประมาณ 2564 ที่ได้รับจำนวน 2.23 แสนล้านบาทพอสมควร ซึ่งเกือบ 50% เป็นงบประจำ เช่น เงินเดือน บำนาญ สิทธิตามกฎหมาย และสวัสดิการ ที่เหลือเป็นภารกิจพื้นฐานการฝึก
ส่วนการจัดหา‘อาวุธ-ยุทโธปกรณ์’ โดยที่ ‘เรือดำน้ำ’ ยังอยู่ในความสนใจและเป็นเป้าหลักของ ‘ฝ่ายค้าน’ ที่ต้องการให้ยกเลิก หรือชะลอเหมือนปีที่แล้ว ล่าสุดพบว่ามีการตั้งงบประมาณจัดซื้อ ‘เรือดำน้ำ’ลำที่สองและสาม ในงบประมาณปี 2565 ไว้เพียง 900 ล้านบาท ลดลงถึง 3,025 ล้านบาท เมื่อเทียบปีที่ 2564 จำนวน 3,925 ล้าน
ที่เหลือ แผนจัดซื้อระบบการสื่อสารควบคุมบัญชาการเรือดำน้ำ 300 ล้านบาท การก่อสร้างโรงจอดเรือดำน้ำ และอู่ซ่อมบำรุง 650 ล้านบาท และโครงการอื่นๆ เช่น การจัดหาอากาศยานไร้คนขับ 5,000 ล้านบาท การปรับปรุงชุดเรือหลวงปัตตานี 3,300 ล้านบาท การจัดหารถยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก 813 ล้านบาท การปรับปรุงเครื่องบินดอร์เนีย 800 ล้านบาท การจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ 997 ล้านบาท
ขณะที่ ‘กองทัพบก’ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มอบนโยบายทุกหน่วย ปรับงบประมาณที่สามารถทำได้มาช่วยแก้ปัญหา‘โควิด’ให้ประชาชน แต่ส่วนใดที่จำเป็นและต้องดำรงไว้ซึ่งความพร้อมด้านความมั่นคงของประเทศ และผ่านการเห็นชอบ สายการบังคับบัญชาและรัฐบาลแล้วให้เดินหน้าต่อ ภายใต้ข้อผูกพันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเสริมสร้างความพร้อมรบ
‘กองทัพบก’ จึงตั้งงบประมาณไว้ 2 ส่วน โดยส่วนแรกเกือบ 6,000 ล้านบาท ประกอบด้วย จัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไประยะที่สอง 3,500 ล้านบาท การจัดหารถกู้ซ่อม 677 ล้านบาท การจัดหาเครื่องช่วยฝึกเทคโนโลยีขั้นสูง 600 ล้านบาท การจัดหาระบบควบคุมการยิงของรถถังเอ็ม 60 จำนวน 720 ล้านบาท
ส่วนที่สอง เป็นงบประมาณผูกพันข้ามปีอีก 6,000 ล้านบาท ทั้งโครงการจัดซื้อรถถัง VT-4 จำนวน 689 ล้านบาท โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี จำนวน 1,690 ล้านบาท โครงการจัดซื้อยานเกราะ Stryker (งบประมาณผูกพันข้ามปี รวม 2 ระยะ) จำนวน 2,560 ล้านบาท
ด้าน ‘กองทัพอากาศ’ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เสนอจัดซื้อเครื่องบินลำเลียงซี 130 ใน 3 ระยะ จำนวน 4 ลำ ทดแทนของเก่า ลำละ 3,000 ล้านบาท รวม 12,000 ล้านบาท แต่ถูกทักท้วง จึงทำให้โครงการดังกล่าวตกไป จึงเหลือเพียงโครงการเดิม คือจัดหาเครื่องบินแบบที่ 19 (ทดแทน PC-9) จำนวน 1,800 ล้านบาท จัดหาเครื่องบินเครื่องบินโจมตีขนาดเบา (ทดแทน L-39) จำนวน 900 ล้านบาท
อีกส่วนเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี ได้แก่ การปรับปรุง Software Gripen จำนวน 1,700 ล้านบาท เครื่องบินโจมตี AT-6 TH จำนวน 2,000 ล้านบาท ,เครื่องบินขับไล่-ฝึก T 50 TH 2,000 ล้านบาท ปรับปรุงอัลฟ่าเจ็ต 1,200 ล้านบาท
จึงเป็นเรื่องต้องติดตามในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2565 วันที่ 26-27 พ.ค. นี้ ว่า ‘ฝ่ายค้าน’ จะลดทอนงบ ‘ทหาร’ ได้อีกหรือไม่ ท่ามกลางวิกฤติ ‘โควิด-19’ ที่ยังสร้างแรงสะเทือนให้ ‘กองทัพ’ ไม่รู้จักจบสิ้น