เครื่องแบบใหม่ 'สายตรวจปราบปราม' พร้อมปฏิบัติการ 'ปะ-ฉะ-ดะ'
คณะกรรมการฯ คิดค้น-ออกแบบเครื่องแบบใหม่ การันตีว่า สวมใส่สบาย วิ่งคล่อง จับโจรง่าย เพราะทุกขั้นตอน ได้รวบรวมปัญหาการปฏิบัติงานของตำรวจ ว่าชุดเดิมใส่แล้วเกิดอุปสรรค
อาจด้วยบทบาทและหน้าที่ของ “ตำรวจสายตรวจ” งานป้องกันปราบปราม ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อเฝ้าสังเกตบุคคล สถานที่ ยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่นำไปสู่ “อาชญากรรม” จึงต้องปฏิบัติงานแบบ “ปะ-ฉะ-ดะ”
ไล่ระดับตั้งแต่การตรวจ และลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบ หากพบเหตุการณ์ต้องเข้าระงับ แก้ไข ก่อนจะมีการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดเหตุร้ายแรง จนบางครั้งถึงขั้นการปราบปราม และเข้าจับกุมผู้กระทำผิด ควบคู่ไปกับการรักษาร่องรอยพยานหลักฐาน และสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงการค้นตัวบุคคลหรือสถานที่ หรือควบคุมตัวผู้ต้องหา ฯลฯ
จึงทำให้ที่ผ่านมา มีข้อร้องเรียนจากตำรวจสายตรวจไม่น้อย เกี่ยวกับ “เครื่องแบบ”ในปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน เช่น ชุดที่รัดตึงเกินไปทำให้วิ่งไม่คล่อง เป้ากางเกงแตก หรือตะเข็บเสื้อแนวรักแร้ขาด เมื่อต้องไล่จับผู้กระทำความผิดกรณีขัดขืน หรือบางครั้งต้องปีนป่าย เสื้อผ้าระบายความร้อนได้ไม่ดี ซักแห้งยาก เครื่องหมายประดับบนเครื่องแบบทิ่มแทงตัวเอง และบุคคลใกล้เคียงในขณะปฏิบัติงาน
“บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและต้องการให้การปฏิบัติงานของตำรวจสายตรวจงานป้องกันปราบปรามมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาการคิดค้นและออกแบบ "เครื่องแบบใหม่" เพื่อให้ทันสมัยตอบโจทย์ผู้ปฏิบัติงาน ผ่านคณะกรรมการ ที่มี พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน ส่วน พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นประธานคณะทำงาน
โดย “เครื่องแบบใหม่” ใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ ที่ระบายอากาศได้ดี ประกอบด้วย “เสื้อ” ใช้ผ้าผสม 2 ส่วนช่วงบน-ช่วงล่าง เมื่อสวมใส่เสื้อกันกระสุนทับ จะไม่ร้อน ใส่สบาย ที่สำคัญซักแล้วแห้งง่าย ส่วน "กางเกง" เป็นแบบ Tactical หรือยุทธวิธี มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานที่อาจจะต้องมีการลุก-นั่ง อย่างรวดเร็ว ไม่ทำให้เป้าขาด รวมถึงเพื่อให้คล่องตัวในขณะวิ่งไล่ล่า ตามจับผู้กระทำความผิด ที่สำคัญยังมีกระเป๋าใส่อุปกรณ์หลายด้าน
เช่นเดียวกับ “หมวก” เปลี่ยนจาก “หมวกหม้อตาล” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็น “หมวกแก๊บ” ที่เบา ใส่แล้วกระชับ ไม่หลุดขณะวิ่ง ส่วน “เครื่องหมาย” ใช้ผ้าแทนโลหะ เพื่อลดการบาดเจ็บทั้งตัวเจ้าหน้าที่ และผู้ถูกจับกุม ส่วน “รองเท้า” เป็นแบบเบา วิ่งสะดวก คล่องตัว และไม่เจ็บเท้า
แม้ “เครื่องแบบ” ดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ 100% และอยู่ระหว่างนำร่องทดลองใช้ใน 3 สน.ที่มีประชาชนพลุกพล่านเพื่อสร้างการรับรู้ ประกอบด้วย สน.จักรวรรดิ สน.บางยี่ขัน และ สน.บุคคโล จำนวน 30 นาย เริ่มวันที่ 4 -13 พ.ค. รวม 10 วัน จากนั้นคณะกรรมการฯจะสรุปเรื่องเสนอ ผบ.ตร.พิจารณา
“อยากให้ประชาชนทราบว่าเป็นเครื่องแบบใหม่ของตำรวจ ไม่ได้ตั้งงบประมาณอะไรไว้ เพราะทุกปีจะแจกเครื่องแบบให้ตำรวจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหากเครื่องแบบนี้เหมาะสม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะดำเนินการจัดหาให้ตำรวจทุกนาย โดยราคาค่าเครื่องแบบใหม่ตกชุดละประมาณ 2,000 บาท ” พล.ต.อ.มนู ระบุ
ด้าน พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รอง ผบช.น.อธิบายว่า ชุดตำรวจสายตรวจใหม่ คิดขึ้นมาหลังจากรวบรวมข้อมูลมาจากปัญหาและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ว่าชุดเดิมใส่แล้วเกิดอุปสรรคการทำงานอย่างไรบ้าง เช่น ความไม่คล่องตัว เสื้อผ้าไม่ยืดหยุ่น รองเท้ามีน้ำหนัก เครื่องหมายโลหะทำให้ทิ่มแทงตัวเอง หรือคนร้ายขณะเข้าจับกุม และเกี่ยวโดนประชาชนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
หลังครบ 10 วันทดลองใช้เครื่องแบบใหม่ คณะกรรมการฯ จะรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนและตำรวจ ว่ามีจุดบกพร่อง หรืออยากเปลี่ยนแก้ไขหรือไม่ ก่อนเสนอให้ ผบ.ตร.พิจารณาอนุมัติ และออกเป็นระเบียบรองรับ ตามประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องเครื่องแบบตำรวจต่อไป
ท่ามกลางเสียงการันตีของคณะกรรมการฯ คิดค้น-ออกแบบว่า เครื่องแบบใหม่ตอบโจทย์ “ตำรวจสายตรวจ” ในงานป้องกันปราบปราม เพราะนอกจากสวมใส่สบายแล้ว ยังวิ่งคล่อง จับโจรง่ายอีกด้วย