มิสเมียนมา ตามรอย ‘เชกูวาร่า’

มิสเมียนมา ตามรอย ‘เชกูวาร่า’

ทาร์ เท็ต เท็ต ก็เหมือนคนรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z ในเมียนมาที่ชื่นชอบอองซานซูจี และศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย

   “การปฏิวัติ ไม่ใช่แอปเปิ้ลที่ร่วงหล่นเมื่อสุก คุณต้องทำให้มันล้มลง(เชกูวาร่า) เราต้องชนะ” ข้อความจากทวิตเตอร์ของ “ทาร์ เท็ต เท็ต” (Htar Htet Htet) อดีตมิสเมียนมา 2013 ซึ่งได้โพสต์ภาพตัวเธอแต่งกายชุดทหาร สะพายปืน จำนวน 4 ภาพ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2564

วันเดียวกัน “ทาร์ เท็ต เท็ต” ยังได้โพสต์เฟซบุ๊คบอกเล่าว่า เธอได้เดินทางสู่ดินแดนแห่งการปฏิวัติมาเป็นเวลา 1 เดือน 11 วันแล้ว เธอมีความมุ่งมั่นจะทำการปฏิวัติ โค่นล้มระบอบเผด็จทหารเมียนมาที่ฝังลึกอยู่ในประเทศมานานกว่า 60 ปีให้ได้

 7-8 ปีที่แล้ว ทาร์ เท็ต เท็ต ครองมงกุฎ Miss Myanmar 2013 และเป็นตัวแทนสาวพม่าเข้าประกวด Miss Grand International 2013 ที่ จ.เชียงใหม่ หลังจากนั้น เธอเข้าสู่วงการแสดงและเดินแบบ

ทาร์ เท็ต เท็ต ก็เหมือนคนรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z ในเมียนมาที่ชื่นชอบอองซานซูจี และศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น เมื่อเกิดรัฐประหาร พวกเขาจึงได้ลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนคัดค้านเผด็จการทหารพม่าทันที

 การเดินขบวนประท้วงอย่างสันติวิธี ถูกปราบปรามเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อน รัฐบาลทหารพม่ามีคำสั่งจับกุมกลุ่มต่อต้านแบบหว่านแห คนหนุ่มสาวเมียนมากลุ่มหนึ่ง จึงตั้งองค์กร United Defense Force (UDF) เตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ต้นเดือน มี.ค.2564 สมาชิกกลุ่ม กลุ่ม United Defense Force (UDF) ประมาณ 250 คน เดิยทางสู่ที่มั่นของกองกำลังพิทักษ์กะเหรี่ยงแห่งชาติ (Karen National Defense Organization : KNDO) บริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย เพื่อเข้ารับการฝึกอาวุธ

 กลุ่มกะเหรี่ยง KNDO อยู่ภายใต้การนำของ พล.ต.เนอดา โบเมี้ยะ บุตรชายนายพลโบเมี้ยะ อดีตผู้นำสหภาพกะเหรี่ยง KNU

 “เราเหมือนลงเรือลำเดียวกัน ช่วยเหลือกัน เพื่อความอยู่รอด และต่างก็มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลทหาร เพื่อก่อตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่” พล.ต.เนอดา โบเมี้ยะ กล่าว

ทาร์ เท็ต เท็ต ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนหนุ่มสาว UDF ที่เข้าป่าฝึกอาวุธ ในค่ายฝึก KNDO และระหว่างที่เธอในที่มั่นริมชายแดนเมียนมา-ไทย เธอได้โพสต์ถึง “เชกูวาร่า” นายแพทย์ผู้สร้างตำนานการปฏิวัติคิวบา อันลือลั่นไปทั้งโลก

 “การปฏิวัติคือความรัก...เพราะความรักที่ยิ่งใหญ่ เขากลายเป็นนักปฏิวัติ เพราะรักสังคม รักความยุติธรรม เขากลายเป็นนักปฏิวัติ”

 เชกูวาร่า เป็นบิดาแห่งสงครามจรยุทธ์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักปฏิวัติรุ่นใหม่มาทุกยุคทุกสมัย

162099354145

 การเข้าป่าจับปืนของคนรุ่น Gen Y Gen Z ในปีนี้ เหมือนย่ำรอยเดิมคนหนุ่มสาวเมียนมาเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว เมื่อเกิดการลุกฮือต้านเผด็จการทหารของนักศึกษาเมียนมาจึงถูกล้อมปราบอย่างโหดร้ายในย่างกุ้ง ที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์ 8-8-88”

 นักศึกษาเมียนมา ยุคปี 1988 ได้หลบหนีภัยเผด็จการไปอยู่ป่าเขาแนวชายแดนเมียนมา-จีน และเมียนมา-ไทย ซึ่งเป็นที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ และจัดตั้งองค์กร “แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า” (The All Burma Students’ Democratic Front : ABSDF) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กองทัพนักศึกษาพม่า”

 เส้นทางการต่อสู้ของกองทัพ ABSDF ไม่ได้ง่ายเหมือนคิดฝัน คนหนุ่มสาวเมียนมา พ.ศ.โน้น ร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์คะฉิ่น และกะยา ทำสงครามกองโจรเป็นเวลายาวนาน ก็ยังไม่ได้รับชัยชนะ

 ปัจจุบัน แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF) อายุ 50-60 ปีแล้ว สู้ตั้งแต่หนุ่มๆสาวๆ ก็ยังไม่ถึงฝั่งฝัน พวกเขาจึงร่วมกับ 10 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลเต็งเส่ง เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

 ความล้มเหลวของกองทัพนักศึกษา ABSDF ไม่ต่างจากขบวนการนักศึกษาไทย ช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ที่เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สุดท้ายต้องวางปืนคืนเมืองเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”

น่าจับตาว่า ขบวนการหนุ่มสาวเมียนมายุคนี้ ที่เลือกการต่อสู้บนหนทางปืน จะลงเอยเหมือนนักศึกษารุ่นพ่อรุ่นแม่หรือไม่? สะพายปืนอยู่ในป่า จนอายุ 60 ปี ก็ยังมองไม่เห็นชัยชนะ

 การปฏิวัติไม่ใช่การเย็บปักถักร้อย ไม่ได้ปูพรมแดงเหมือนเวทีนางงาม ก็หวังว่า “มิสเมียนมา” จะยืนหยัดต่อสู้บนความเชื่อและศรัทธาเหมือนเชกูวาร่า ปฏิวัติสำเร็จในคิวบา