'ทวี' แนะ6ทาง แก้วิกฤต 'โควิด-เรือนจำ' ชี้ไม่เร่งแก้ เข้าข่ายละเมิดมนุษยชนรุนแรง
'พ.ต.อ.ทวี' เสนอ 'ประยุทธ์' ใช้ 6 แนวทาง แก้ปัญหาวิกฤตโควิด ระบาดในเรือนจำ จี้ให้ทำโดยเร่งด่วน หวั่นเกิดกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน ซัดต้นตอ เพราะใช้คุก ขังคนเห็นต่าง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อเสนอแนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ฐานะผอ.ศบค. เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ อย่างเร่งด่วน 6 มาตรการ ได้แก่ 1. ลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อลดความแออัด โดยพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว กลุ่มที่อยู่ระหว่างพิจารณาและสอบสวน ที่มีกว่า 29,442 คน และ ให้ประกันตัว กลุ่มผู้ต้องขังที่อยยู่ระหว่างอุทธรณ์ หรือฎีกา ที่มี กว่า 30,553 คน และใช้การติดตามตัวผ่านนกำไลอิเล็คทรอนิกส์ พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ สำหรับผู้ต้องขังฐานะยากจนไม่ต้องวางหลักทรัพย์ , 2. ออกมาตรการพักโทษ สำหรับกลุ่มผู้ต้องขังที่คำพิพากษาถึงที่สุด ที่มีกว่า 2.49 แสนคน ให้พิจารณาเงื่อนไขการพักโทษกลุ่มสูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว กลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโควิด-19
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า 3. ให้เรือนจำทุกแห่งพิจารณาการส่งตัวผู้ติดเชื้อโควิดออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือน โดยเลือกโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามจัดสถานที่สำหรับการรักษาพยาบาลและควบคุมตัวผู้ที่มาจากเรือนจำโดยเฉพาะที่มีความมั่นคงปลอดภัย , 4. กรณีที่ต้องเพิ่มจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ให้ใช้การควบคุมตัวในสถานที่อื่น ซึ่งไม่ใช่เรือนจำ เช่น ค่ายทหาร, สถานที่ฝึกอบรมของหน่วยราชการที่ไม่ถูกใช้งาน จนกว่าจะมั่นใจว่า เรือนจำในเขตพื้นที่ปลอดจากเชื้อโควิด และผู้ต้องขังหรือนักโทษแต่ละคนได้รับการคัดกรองและดูอาการจนแน่ใจแล้วว่าปลอดจากเชื้อโควิด จึงค่อยส่งตัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า 5. รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณและวัคซีนให้เรือนจำ ในฐานะที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และ 6. เพิ่มอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์เป็นพิเศษ ให้กับเรือนจำทุกแห่งโดยทันทีเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงภาวะวิกฤติ และเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน ให้ถือเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อน
"ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เรือนจำเป็นที่ควบคุม กักขัง ในคดีที่ผู้มีความเห็นต่างกับรัฐมุ่งผลทางการเมืองมากไป จนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดรุนแรงในเรือนจำ เมื่อเกิดปัญหา นายกรัฐมนตรี ไม่ใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารในภาวะวิกฤติของเรือนจำ ทั้งที่ความอยู่รอดเป็นชีวิตต้องสำคัญกว่าผลประโยชน์และตำแหน่ง หากรัฐบาลปล่อยล่าช้าจนผู้ติดเชื้อลุกลามเพิ่มขึ้นจะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ มากที่สุด” พ.ต.อ.ทวี กล่าว.