ซ้ายในขวา สร้างชาติแบบ ‘พิภพ’
เส้นทางอำนาจบูรพาพยัคฆ์ คู่ขนานกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเสื้อเหลือง และเสื้อฟ้า พิภพและมิตรสหาย ก็รับรู้อยู่แก่ใจ แต่ยังเสนอทางออกแบบย้อนยุค
29 ปีที่แล้ว ก่อนจะถึงวันรบแตกหัก และเหตุการณ์นองเลือด บนถนนราชดำเนิน ควรย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของ “ขบวนการประชาธิปไตย” พ.ศ.โน้น
ปลายปี 2534 มีการชุมนุมใหญ่คัดค้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. ที่ท้องสนามหลวง จัดโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท) ซึ่งวันนี้ มีตัวแทนพรรคการเมืองได้ขึ้นเวทีปราศรัยด้วย
หลัง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ตัดสินใจเป็นนายกรัฐมนตรี แทนพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ สงครามท้องถนน ได้เริ่มบทใหม่ มีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง นำทัพเคลื่อนไหวต้าน “สุจินดา” คู่ขนานฝ่ายประชาธิปไตยคือ ครป. และ สนนท.
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ฝ่ายค้านสมัยนั้น ขยับเกมในสภาฯ ดุเดือด ประสานการเคลื่อนไหวนอกสภาแบบลับๆ
เมื่อเหตุการณ์นองเลือดจบลง จึงเกิดรัฐบาลชั่วคราว ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 13 ก.ย.2535 และส่งมอบให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศ
ปี 2536 พิภพ ธงไชย ในนามมูลนิธิเด็ก ตั้งกองทุน “รวมทุนน้ำใจไทย” เพื่อช่วยเหลือญาติวีรชนพฤษภา 35 ต่อมา พิภพได้รับเลือกเป็นรองประธาน ครป. ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น สมัชชาคนจน และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านกรูด-บ่อนอก
ปี 2539-2540 พิภพในฐานะประธาน ครป. เคลื่อนไหวสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในปี 2549 พิภพสร้างความประหลาดใจให้แก่เพื่อนพ้องน้องพี่ ด้วยการเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
การชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณสมัยนั้น มีการเสนอให้มีนายกรัฐมนตรี ที่มาตามช่องทางมาตรา 7 ก่อนสถานการณ์จะพลิกผัน มีการทำรัฐประหารยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
พิภพโลดแล่นในวิถีผู้นำมวลชนเสื้อเหลืองอยู่หลายปี และห่างหายไปจากยุทธจักร ช่วงที่มีการยึดอำนาจอีกครั้ง ระยะหลัง พิภพได้ร่วมวงเสวนากับมิตรสหาย ที่ผูกพันกันมาแต่ยุคพฤษภา 2535 ไม่ว่าจะเป็น จตุพร พรหมพันธุ์ ประสาร มฤคพิทักษ์ ปรีดา เตียสุวรรณ์อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ และสุริยะใส กตะศิลา
ร้านอาหารของอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ย่านสามเสน และบ้านพักของปรีดา เตียสุวรรณ์ แถวบางนา เป็นจุดนัดพบของ “คนเดือนพฤษภา35” แนวคิดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กลับมาเป็นหัวข้อหลักในการสนทนา
พวกเขาระบุว่า 7 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวและเกิดการผูกขาด การปฏิรูปตำรวจไม่สำเร็จ การปฏิรูปการศึกษาทำไม่ได้ การปรองดองล้มเหลว และการปฏิรูปการเมืองที่ไม่ขยับ แต่กลับมีสภาพการเมืองแบบเก่า ที่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2490
แนวคิดรัฐบาลสร้างชาติ จึงอุบัติขึ้นมา เหมือนโมเดลเก่าๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 50 ปีนี้ รัฐบาลสัญญา รัฐบาลธานินทร์ และรัฐบาลอานันท์
จังหวะก้าวการเคลื่อนมวลชน จึงแยกเป็น 2 สายคือ สายแรก จตุพร พรหมพันธุ์ ร่วมมือกับอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ จัดเวทีไทยไม่ทนสามัคคีทุกสีเสื้อไล่รัฐบาลประยุทธ์ แต่ไม่ระบุว่า ประยุทธ์ออกไปแล้ว ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
สายที่สอง นิติธร ล้ำเหลือ ปรีดา เตียสุวรรณ์ และพิชิต ไชยมงคล กลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) ออกมาจุดพลุชื่อ ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากช่องทางรัฐธรรมนูญ 2560
พิภพ ธงไชย ไม่ได้ไปขึ้นเวทีไทยไม่ทน ไล่ประยุทธ์ แต่ออกแถลงการณ์ส่วนตัวสนับสนุนแนวคิดนายกรัฐมนตรีคนนอก ของกลุ่ม “นิติธร-ปรีดา”
การชักธงรบ คัดค้านการสืบทอดอำนาจของกลุ่มอำนาจ 3 ป. ของพิภพ ดูเหมือนก้าวหน้า แต่กลับล้าหลัง เมื่อเสนอช่องทางการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนนอก
หากย้อนมองทางเดิน “3 ป.” ที่เริ่มต้นจากหลังรัฐประหาร 19 กันยา เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก และส่งไม้ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เส้นทางอำนาจของบูรพาพยัคฆ์ คู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเสื้อเหลือง และเสื้อฟ้า พิภพและมิตรสหาย ก็รับรู้อยู่แก่ใจ แต่ยังเสนอทางออกแบบย้อนยุค.