'คอร์รัปชันไทย' ฝังลึก ก้าวถอยหลัง-เชื่อมั่นทรุด
ตลอด 7 ปีประเทศไทยถูกจัดอันดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตในปี 2563 มีคะแนนน้อยที่สุดในรอบ 7 ปีโดยอันดับถอยลงไปที่ 104 ของโลก
หากย้อนไปถึงช่วงที่ “คสช.” เข้ามาบริหารประเทศตลอด 6 ปี จนมาถึงช่วงรอยต่อรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ก่อนหน้านี้ คสช.เคยประกาศ “ธงนำ” การปราบการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 แต่ภาพการปฏิรูปด้าน “ปราบปรามคอร์รัปชัน” ซึ่งมีสถิติการวัดระดับจากประเทศนานาชาติจากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก โดย “องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ” (Transparency International หรือ TI) มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เป็นองค์กรอิสระนานาชาติก่อตั้งขึ้น เพื่อรณรงค์การแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index : CPI) เป็นประจำปีทุกปี
ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ยุค คสช.เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 จนถึงต้นปี 2562 ต่อเนื่องในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในปี 2562-2564 “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริต สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ได้รวบรวมสถิติจากการจัดอันดับ “องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ” ตลอด 7 ปีดังนี้
ปี 2557 ไทยได้ 38 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน) อยู่ในลำดับที่ 85 ของโลกจาก 175 ประเทศและอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน10 ประเทศ
ปี 2558 ไทยได้ 38 คะแนน อยู่ลำดับที่ 76 ของโลกจาก 168 ประเทศ และอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2559 ไทยได้ 35 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลกจาก 176 ประเทศและอยู่อันดับที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2560 ไทยได้ 37 คะแนน อยู่ลำดับที่ 96 ของโลกจาก 180 ประเทศ และอยู่อันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2561 ไทยได้ 36 คะแนนอยู่ลำดับที่ 99 ของโลกจาก 180 ประเทศ และอยู่อันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2562 เป็นปีที่ประเทศมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ไทยได้คะแนนอยู่ที่ 36 คะแนน อยู่ลำดับที่ 101 ของโลกจาก 180 ประเทศ และอยู่อันดับที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2563 ประเทศไทยได้ 36 คะแนน อยู่ลำดับที่ 104 ของโลกจาก 180 ประเทศ และอยู่อันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
จะเห็นได้ว่าตลอด 7 ปีประเทศไทยถูกจัดอันดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ซึ่งในปี 2558 ถือเป็นปีที่มีคะแนนที่ดีที่สุดตลอด 7 ปี แต่ในปี 2563 มีคะแนนน้อยที่สุดในรอบ 7 ปีโดยอันดับถอยลงไปที่ 104 ของโลกเช่นกัน
ในเรื่องนี้ “ดร.มานะ นิมิตรมงคล” ประธานองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น มองว่า จะเห็นได้ว่าภาครัฐมีการกำหนดนโยบาย ออกกฎหมายหรือมีความพยายามหลายอย่าง แต่เหมือนกับที่ต่างชาติประเมินประเทศไทยมีความเป็นจริงอย่างนั้น โดยกฎหมายและมาตรการของไทยที่เป็นผลสำเร็จหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ยังมีผลออกมาน้อยมาก ซึ่ง 7-8 ปีที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่มีผลดีชัดเจน อาทิ มี พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 หรือ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แต่มีหน่วยงานจำนวนน้อยที่สามารถปฏิบัติได้ และหน่วยงานส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเป็นไปตามที่วางไว้ได้จริง ส่วนในเรื่องอื่นยังถือว่ามีความคืบหน้าช้ามาก
“แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง พบว่าในบางเรื่องที่ทำแล้วมีผลดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปกำลังมีแนวโน้มว่าจะถูกแก้ไขให้ย้อนหลังกลับไป เช่นพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่สร้างความโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการเมกะโปรเจค หรือการจัดซื้อขนาดใหญ่ มีความพยายามแก้กฎหมายโดยตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป โดยลดบทบาทของภาคประชาชนในคณะกรรมการป้องกันการทุจริตตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ทำให้เราเกิดความสงสัยตรงนี้” ดร.มานะ ระบุ
“ดร.มานะ” ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีเสียงคัดค้านประชาชนขณะนี้ ซึ่งตั้งแต่การมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แผนการปฏิรูปโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ พูดเรื่องพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ต้องสร้างความโปร่งใสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ขณะนี้กลับไม่เกิดผลในทางปฏิบัติได้เลย ซึ่งในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯฉบับของรัฐบาล เป็นไปในทิศทางตรงข้าม เพราะนอกจากจะไม่เป็นไปตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปฯ หรือตามแผนปฏิรูปแล้ว ยังกลับทำให้เลวร้ายไปกว่าเดิมอีกตรงนี้เป็นเรื่องน่ากลัวมาก ถึงแม้โดยรวมแผนปฏิรูปฯ เขียนไว้ครอบคลุมดี แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นปัญหามากเช่นกัน
“การตัดช่องทางมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และทำให้ประเทศไทยก้าวถอยหลังออกไปและสูญเสียความเชื่อมั่นจากคนไทย นักธุรกิจ และนักลงทุน เพราะที่ผ่านมาอย่างเรื่องข้อตกลงคุณธรรมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ สามารถประหยัดได้ต่อปี 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ไม่มีเหตุผลอะไรจะทำให้ถอยหลังลงคลอง แทนที่จะทำให้มีประสิทธิภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น”ดร.มานะ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ปัญหาคอร์รัปชันในอนาคตนั้น “ดร.มานะ” มองว่า ทิศทางในอนาคตหากมองปัจุบันยังต้องบอกว่าเห็นภาพในเชิงบวกน้อยมากจากกระบวนการปฏิรูปของภาครัฐ แต่อีกด้านได้เห็นความตื่นตัวที่มากขึ้นของภาคประชาชน รวมถึงเห็นข้าราชการที่ดีๆจำนวนมากที่เข้าใจในแนวโน้มใหม่ๆ เหล่านี้
ส่วนการจัดอันดับของ “องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ” ถึงแม้ภาครัฐให้ความสนใจพูดถึง แต่การลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังยังเห็นน้อยมาก เพราะทุกวันนี้ยังเห็นข่าวการคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรัฐวิสาหกิจ ในหน่วยงานราชการ หรือแม้แต่ในสถานการณ์โควิดยังเห็นความเลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้น
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ถูกเปิดเผยในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563 จากข้อมูลในปีงบประมาณ 2562 สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับเรื่องกล่าวหาการทุจริตจำนวน10,382 เรื่อง คิดเป็นวงเงินงบประมาณจากโครงการภาครัฐในคำกล่าวหารวม 238,209 ล้านบาท
โดยเฉพาะประเภท “การทุจริต” อันดับหนึ่ง พบว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง วงเงิน 207,060 ล้านบาท ส่วนอันดับสอง การดำเนินการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ วงเงิน 23,840 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมี “สถิติ” รับเรื่องทุจริตที่ร้องเรียนมาถึง ป.ป.ช.ตลอดปีงบประมาณ2563 อีกจำนวน 8,691 เรื่อง คิดเป็นวงเงินงบประมาณของโครงการจากคำกล่าวหา รวมประมาณ 9 หมื่นล้านบาท.