การเมือง
'ส.ส.ก้าวไกล' ชี้ 'พ.ร.ก.ปรับดอกเบี้ย' หมกเม็ดการเมือง-ขัดรัฐธรรมนูญ ม.26
รมว.คลัง เสนอ พ.ร.ก. ปรับอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ ต่อสภาฯ ด้าน "ส.ส." ชี้เนื้อหาหมกเม็ด แก้หนี้ในระบบแค่ 0.1% จี้ให้ทบทวน - เสนอ "ชวน" ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) เสนอเพื่อปรับปรุงส่วนของอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ จากอัตราคงที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 3 ต่อปี และร้อยละ 5 ต่อปีตามลำดับ
ทั้งนี้ นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงต่อสภาฯ ว่า เพื่อปรับปรุงกฎหมาย ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บังคับใช้ กว่า 95 ปีและไม่ได้แก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งกำหนดไว้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่ง เป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปี จึงทำให้ลูกหนี้เดือนดร้อนจากภาระดอกเบี้ยสูงที่เกินสมควร และส่งผลให้เกิดการประวิงเวลาฟ้องร้องดำเนินคดีของเจ้าหนี้เพื่อหาประโยชน์จากความไม่เหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย
"ข้อเทร็จจริงว่าในสัญญามีการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้อย่างมาก เจ้าหนี้จำนวนหนึ่งได้กำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้อย่างมาก เมื่อผิดนัดหลายงวดติดต่อกันดอกเบี้ยผิดนัดก็สะสมเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นหนี้เสีย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหากับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางจำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้เช่นเวลาปกติ ดังนั้นจึงความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นกรณีฉุกเฉินที่ต้องแก้ไข เพื่อประโยชน์ที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ” นายอาคม ชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายของส.ส. นั้นส่วนใหญ่สนับสนุนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ แต่ท้วงติงว่า รายละเอียดนั้นไม่ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม
โดย นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเสนอว่าให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. อีกฉบับเพื่อปรับรายละเอียดให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาหนี้ ของลูกหนี้ทุกกลุ่ม เพราะจากรายละเอียดของพ.ร.ก.ที่เสนอ ไม่ครอบคลุม กับลูกหนี้ 4 ประเภท คือ กรณีมีสัญญาเงินกู้ แต่ไม่ระบุอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขการชำระคืน, กรณีไม่มีสัญญาา, กรณีละเมิดทางแพ่ง และกรณีมีดอกเบี้ยผิดนัด ทั้งคำนวณจากเงินต้นเฉพาะงวดผิดนัด และการใช้ดุลยพินิจของศาล รวมถึงลูกหนี้รายใหม่ที่คาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ลดลงตามพ.ร.ก. เนื่องจากเงื่อนไขของการแก้ไข พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ยังมีเงื่อนไขที่ผูกติดกับประกาศของกระทรวงการคลัง จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งไม่ลดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน
“ปัจจุบันมีสินเชื่อในระบบทั้งหมด 17 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 12-13 ล้านล้านบาท เป็นของประชาชนและกลุ่มบริษัท ที่เหลือเป็นส่วนของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ทุกกรณีมีสัญญา ดังนั้นผู้ที่จะได้ประโยชน์จากพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว มีเพียง 0.1% เท่านั้น ทั้งนี้ในหลักคิดผมเห็นด้วย แต่ ผิดหวังกับการแก้ปัญหาหนี้ในระบบได้เพียง 0.1% เท่านั้น ดังนั้นตามอำนาจควรออก พ.ร.ก.อีกฉบับเพื่อให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มได้ประโยชน์และครอบคลุมกับลูกหนี้รายใหม่” นายเกียรติ กล่าว
ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเรียกร้องให้ประธานสภาฯ ส่งพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความว่า การให้อำนาจกระทรวงการคลัง เพื่อขึ้นดอกเบี้ยโดยไม่ผ่านกระทรวงนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ ซึ่งกรณีที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกา ปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้ นั้นประชาชนได้รับผลกระทบและตนมองว่าอาจเป็นการช่วยเหลือนายทุน
“พ.ร.ก.ฉบับนี้ เหมือนน้ำผึ้งอาบยาพิษ เหมือนจะดี แต่ไม่ดี เพราะการให้อำนาจกระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ว่าจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เป็นพระราชกฤษฎีกา ทุกๆ 3 ปีเท่ากับสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ตามอำเภอใจ เช่น ร้อยละ 7 เท่ากับเขียนเช็คเปล่าให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการ ประชาชนมีแต่ได้รับโทษ ทั้งนี้กระบวนการออกกฎหมายของรัฐบาลใช้วิธีปิดปากสภาฯ ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งการแก้ไขในช่วงนี้ หมกเม็ด กลั่นแกล้งประชาชน หรือต้องการหาเสียงหรือไม่” นายธีรัจชัย กล่าว.