การเมือง
'เพื่อไทย' แนะ 'รัฐบาล' ฟัง 'โทนี่ วู้ดซัม' ก่อนประเทศไปไม่รอด
ส.ส.เพื่อไทย ปูดมีแก๊งหมวกกันน็อค ทวงหนี้หน้าธนาคาร จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาธุรกิจรายย่อย-วัคซีน ก่อนแนะให้ฟังประชาชน "โทนี่ วู้ดซัม" ก่อนประเทศไปไม่รอด
ผู้สื่อข่าวรายงาน ถึงการประชุมสภาฯ ซึ่งพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (ซอฟท์โลน) วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท
โดยส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ได้ทักท้วงในรายละเอียดของการปฏิบัติ ที่กังวลว่าธนาคารพาณิชย์ ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ได้ย้ำถึงการใช้พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ฉบับแรก ที่ประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2563 แต่พบการอนุมัติสินเชื่อไม่ตรงตามเป้าหมาย ซึ่งสะท้อนความไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงอภิปรายถึงปัญหาบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่ไม่สามารถให้บริการกับประชาชนได้ตามที่ประกาศ
ทั้งนี้นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปราย ว่า พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ฉบับสอง ตนมองว่ารัฐบาลเจตนาดี ประสงค์ร้าย เพราะที่ผ่านมาพบกลุ่มขบวนการหมวกกันน็อค ที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย คอยดักอยู่หน้าตู้เอทีเอ็ม ธนาคารกรุงไทย มีบัตรเอทีเอ็มเต็มมือ มีหน้าที่เก็บดอกเบี้ย หากใครไม่ให้ จะถูกข่มขู่ รวมถึงโทรศัพท์ข่มขู่ญาติ อย่างไรก็ดีตนเชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะทำให้ประเทศเกิดวิกฤต ต่อมาคือ ปัญหาวัคซีน หากช่วง 3-4 เดือนไม่มีวัคซีนฉีด ประเทศจะโกลาหล
ขณะที่ นางละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายยืนยันว่า ส.ส.ไม่มีโควต้าวัคซีน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเชือว่ามาจากการบริหารที่ไม่มียุทธศาสตร์ของรัฐบาล อย่างไรก็ดีตนเชื่อว่าประเทศจะไปไม่รอด หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน และหากรัฐบาลต้องการได้แนวทางแก้ปัญหาที่ดี ขอให้ฟังนายโทนี่ วู้ดซัม จากช่องคลับเฮาส์
ส่วนนายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอแนะเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการกู้เงิน ผ่านการจัดสรรเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้าน หรือร้านค้าชุมชน ผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ เข้าถึงการกู้ยืมได้โดยลดเงื่อนไขยุ่งยาก
ทางด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ภาคสอง ของรัฐบาลเชื่อว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลไม่สร้างความมั่นใจให้กับธนาคารพาณิชย์ด้วยการคำประกัน หนี้สูญ เหมือนต่างประเทศที่รัฐบาลต่างประเทศดำเนินการ ทั้งนี้ทางแก้ไขที่ควรทำ คือ ธนาคารพาณิชย์ไม่ควรเลือกว่าจะปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรายย่อยรายใดหรือไม่ แต่ต้องเป็นสิทธิ์ให้เอสเอ็มอีเข้าถึง นอกจากนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรช่วยเหลือ คือ กลุ่มลูกหนี้บ้าน ที่ต้องดูแลเพื่อไม่ให้ถูกยึดบ้าน
“สำหรับมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการ แต่ปัญหาคือ ไม่ให้สิทธิของลูกหนี้ แต่เป็นสิ่งที่ธนาคารคัดเลือก เท่าที่คุยกับผู้ประกอบการ ธนาคารมีเงื่อนไขมาก ทั้งที่ควรกำหนดทรัยพ์ที่มีมูลค่ามากกว่าเงินกู้ 25% ควรเข้าสู่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ได้ เพราะธนาคารไม่ได้เสียหาย ขณะที่ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ ดังนั้นรัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าจริงใจกับการช่วยเหลือเอสเอ็มอีหรือไม่”นายวรภพ กล่าว.