ตรวจแผน 10 ปี ลดงบ 'กลาโหม' ลดผลิต 'นายร้อย' จำกัด 'นายพล'
'กลาโหม' อยู่ในช่วงรอยต่อการปรับโครงสร้าง ต้องใช้เวลา 2-3 ปี งบประมาณด้านบุคลากรจะลดลง ส่วนการลดกำลังพลอาจได้เพียง 60-65 % เพราะ ตัวเลข 50% แทบจะทำให้ไม่มี 'นายพล'หลงเหลืออยู่เลย
แม้ ‘กลาโหม’ พยายามปรับลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้สอดรับสถานการณ์ ‘โควิด-19’ ซึ่งจากเดิมตั้งเป้าไว้เหล่าทัพละ 20% เหลือเพียง 17% เน้นซ่อมปรับปรุงและยืดอายุการใช้งาน ส่วนการจัดหาไม่เกิน 1 ใน 3 เพื่อคงความต่อเนื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่มีสัดส่วนสูง 74% กลับเป็นประเด็นถูกพูดถึงในเวทีพิจารณางบประมาณประจำปี 2565
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ได้สรุปภาพรวมของงบประมาณกระทรวงกลาโหม ที่ได้เสนอตั้งงบประมาณไว้ที่ 203,281 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 11,249 ล้านบาท หรือ 5.24% พร้อมจำแนกสัดส่วนงบประมาณในด้านต่างๆ ซึ่งมีตัวเลขลดหลั่นลงไปตามลำดับ ต่อไปนี้
แผนงานพื้นฐาน 29,431 ล้านบาท ลดลง 524 ล้านบาท (1.75%) แผนงานยุทธศาสตร์ งบประมาณ 66,548 ล้านบาท ลดลง 11,235 ล้านบาท (14.44%) แผนงานบูรณาการงบประมาณ 2,267 ล้านบาท ลดลง 1,229 ล้านบาท (35%) งบพัฒนา 17% จัดหายุทโธปกรณ์ทดแทนและซ่อมบำรุง อีก 9% ปรับปรุงอาคารที่พักอาศัย
ยกเว้นแผนงานบุคลากรภาครัฐ 105,034 ล้านบาท หรือ 74% เพิ่มขึ้น 1,740 ล้านบาท (1.69%) ถือเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของงบประมาณกลาโหม จนกลายเป็นที่โจษจันพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่สะท้อนถึงความไม่จริงจังต่อการปรับโครงสร้างกำลังพล ลดภาระด้านงบประมาณ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมมีแผนปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้าง 10 ปี (2560-2569) รองรับแผนยุทธศาสตร์กระทรวงกลาโหม 20 ปี ซึ่งใน 5 ปีแรก (2560-2564) เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการบริหารจัดการ และระบบวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ในระบบงานด้านกำลังพล
โดยที่ผ่านมากลาโหมได้ใช้แนวทางนำกำลังพลสำรองเข้าทำหน้าที่ทหารชั่วคราวแบบสัญญาจ้าง และรับข้าราชการพลเรือนกลาโหมมาบรรจุรับราชการ เพื่อลดจำนวนอัตราข้าราชการทหาร และแก้ปัญหาความคับคั่งในแต่ละชั้นยศ โดยเฉพาะชั้นยศระดับสูงในอนาคต ในกลุ่มงานต่างๆ เช่น การแพทย์ กฎหมาย งบประมาณ และการบัญชี ครูอาจารย์ นักวิจัย ธุรการ และอื่นๆ
ควบคู่ไปกับเปิดโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือ ‘เออรี่-รีไทร์’ ของข้าราชการทหารทุกชั้นยศ ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป หรือมีเวลาราชการตั้งแต่ 25 ปี และมีเวลาราชการเหลือตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยผู้ที่ลาออกจะได้รับการขอพระราชทานยศ หรือเลื่อนยศสูงขึ้น 1 ชั้นยศเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสร้างแรงจูงใจ
“งบประมาณส่วนใหญ่กระจุกที่ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เช่น เงินเดือน เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญฯ ซึ่งแต่ละปี ทหารบางส่วนมีการปรับเพิ่มขั้น ทำให้เงินเพิ่มตามไปด้วย แต่หลังรัฐบาลมีนโยบายให้ลดกำลังพล กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการตามแผนมาตลอด และช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถลดกำลังพลจนทำให้ลดงบประมาณส่วนนี้จาก 80% เหลือ 74% ส่วนเงินเพิ่มมา 1,740 ล้าน คือเบี้ยเลี้ยง ทหารปฏิบัติหน้าที่พิเศษ” แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม ระบุ
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า แผนปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้าง 10 ปีกลาโหม เข้าสู่ปีสุดท้ายของระยะที่ 1 เท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างกำลังพล และงบประมาณด้านบุคลากรที่สะท้อนมาจากตัวเลขงงบประมาณปี 2565 จึงลดลงไม่มากนัก
เพียงแต่จะเป็นจุดเชื่อมต่อเพื่อนำไปสู่แผนงานระยะ 5 ปีต่อไป (2565-2569) ปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังให้มีขนาดที่เหมาะสม
กระทรวงกลาโหมวางเป้าหมายปรับลดกำลังพลให้ได้ 50% ภายในปี 2570 และเริ่มได้เห็นแนวทางขจัดปัญหา ‘นายพล’ ล้นกองทัพเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
โดยวางเงื่อนไขเพิ่มเติมในการปรับย้ายทหารชั้นนายพล เมื่อเดือนเมษายน 2564 ให้พิจารณาควบคู่กับการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพและลดจำนวนนายพล ตามโครงการ ‘เออรี่-รีไทร์’ พร้อมยุบหน่วยที่ไม่จำเป็น ชะลอการตั้งหน่วยใหม่ ที่ผู้บังคับหน่วยระดับ พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี ขึ้นไป ทยอยปิดตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สามารถลด ‘นายพล’ได้ 5-10%
อย่างไรก็ตาม กลาโหมมองว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายทาง เพราะต้นทางคือโรงเรียนเตรียมทหารที่ผลิตกำลังพลมาเป็น ‘ผู้บังคับบัญชา’ ปีละ 500-600 นาย และในจำนวนนี้จะขึ้นสู่ตำแหน่ง ‘นายพล’ 300-400 นาย จึงมีแนวทางลดจำนวนการผลิตลงเช่นกัน
ถือได้ว่าขณะนี้ กระทรวงกลาโหมอยู่ในช่วงรอยต่อการปรับโครงสร้าง และลดกำลังพล อาจใช้เวลานับจากนี้ 2-3 ปี สัดส่วนงบประมาณด้านบุคลากรจะลดลงตามลำดับ เช่นเดียวกับเป้าหมายการลดกำลังพลในปี 2570 อาจต้องปรับมาอยู่ 60-65 % เพราะ ตัวเลข 50% แทบจะทำให้ ไม่มี “นายพล” หลงเหลืออยู่เลย