‘ผู้การกองบิน 4’ อาถรรพ์เก้าอี้ ‘ผบ.ทอ.’
ความไม่ลงรอยระหว่าง ‘บิ๊ก ทอ.' ซึ่งคนหนึ่งกลายเป็นอดีต แต่อีกคนมีอำนาจเต็มมือ จะส่งผลต่อ ‘พล.อ.อ.ชานนท์’ ที่ถูกวางตัวให้เป็น ‘ผบ.ทอ.’ คนต่อไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าคิด
ทำเนียบรายชื่อ ‘ผู้บัญชาการทหารอากาศ’ (ผบ.ทอ.)เปรียบเหมือนสิ่งการันตีความเชื่อของ ‘ลูกทัพฟ้า’ ใครก็ตามที่เคยเป็น ‘ผู้การกองบิน 4’ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มักไม่สมหวังกับเก้าอี้สูงสุดบน ‘ตึกแปดแฉก’
‘กองบิน 4 ’ คือหนึ่งในกองบินรบที่มีความสำคัญไม่แพ้กองบินอื่น ในภารกิจป้องกันภัยดูแลน่านฟ้าของประเทศมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นสถานที่ตั้งเครื่องบินหลายแบบที่ตอบสนองภารกิจตามยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเครื่องบินขับไล่ฝึกแบบที่ 1 รุ่น L 39 เครื่องบินขับไล่ F16 เครื่องบินฝึกบิน T-50 TH ฯลฯ
อีกทั้งยังเป็นกองบินทันสมัยที่กำลังพัฒนาไปสู่การใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Air Base) ทั้งในส่วนของอาคารสถานที่ต่าง ๆ เพื่อรองรับระบบบัญชาการและควบคุมพัฒนาระบบเครือข่าย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติ (Shooter) เช่น โครงการ F-16 MLU การพัฒนาระบบตรวจจับ (Sensor) เช่น บ.DA-42 อากาศยานไร้นักบิน (UAV) และระบบตรวจจับทางภาคพื้น ฯลฯ
แต่มีเรื่องให้ต้องประหลาดใจไม่น้อย เพราะในบรรดา 27 รายชื่อของ ‘อดีต ผบ.ทอ.’จนถึงคนปัจจุบัน ล้วนมาจาก ‘ผู้การกองบิน’ อื่นแทบทั้งสิ้น ในขณะ ‘ผู้การกองบิน 4’ แม้จะเป็น ‘ตัวเต็ง’เข้ามาอยู่ในไลน์ 5 เสือ ทอ. แต่ด้วยปัจจัยการเมืองภายใน และภายนอกส่งผลให้ต้องกระเด็นกระดอนออกไปทุกครั้ง
เช่นเดียวกับ “บิ๊กจ้อ” พล.อ.อ.ธรินทร์ ปุณศรี ผู้ช่วย ผบ.ทอ. ก็เคยเป็น ‘ผู้การกองบิน 4’ และเป็นตัวเต็งชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ. เมื่อปีที่แล้วด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสมทุกประการ ทั้งนักบินเอฟ 16 และเป็นผู้วางระบบเครื่องบินกริพเพนเข้าประจำการ แต่ก็ต้องผิดหวังหลังถูกโยกไปเป็น ‘รองปลัดกลาโหม’ จนกลายเป็นที่โจษจันกันถึงทุกวันนี้
มาปีนี้ลูกทัพฟ้าต่างจับจ้องไปที่ ‘อดีตผู้การกองบิน 4’ อีกคน พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา เสนาธิการทหารอากาศ (ตท.23) นักบินเอฟ 16 ที่ พล.อ.มานัต วงษ์วาท ผบ.ทอ.คนก่อน ได้ปูทางและหมายมั้นปั้นมือให้เป็น ‘ผบ.ทอ.’ ต่อจาก พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ที่จะเกษียณอายุราชการใน 3 เดือนข้างหน้า ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ
อะไรที่ว่าแน่ ก็ชักจะไม่แน่เสียแล้ว หลังเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง พล.อ.อ.แอร์บูล กับ พล.อ.อ.มานัต
จากกรณี พล.อ.อ.แอร์บูล สั่งเปลี่ยนแปลงเนื้อในการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ ตาม “โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ (กองทัพอากาศ) โครงการผูกพันเริ่มใหม่ ปี 64” 3 โครงการ มูลค่ารวมหลายพันล้านบาท ที่เริ่มทำไว้ในยุค ‘พล.อ.อ.มานัต’
ประกอบด้วย โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2) วงเงินงบประมาณ 945 ล้านบาท โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (Ground Based Air Defense : GBAD) วงเงินงบประมาณ 940 ล้านบาท และ โครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ (วิทยุ) วงเงินงบประมาณ 910 ล้านบาท
จากแนวทางเดิมของ พล.อ.อ.มนัต คือการจัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศ ไทยจะต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อต่อยอด แนวทางจัดหาพร้อมการพัฒนา ตามหลักการ‘พึ่งพาตัวเอง’ หมายความว่า ส่วนไหนผลิตเองได้ก็ให้ดำเนินการ ส่วนไหนที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงก็ให้จัดหา
ในขณะที่ พล.อ.อ.แอร์บูล ได้แก้ไขเนื้อหาสาระใน 3 โครงการดังกล่าวเปิดทางให้จัดซื้อจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะมองว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จึงตัดเรื่อง ‘จัดหาพร้อมการพัฒนา’ออกไป
“ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงการโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการปรับแต่งให้เป็นไปตามสิ่งที่ ผบ.ทอ.คนปัจจุบันคิดว่าดี และเหมาะสมภายใต้อำนาจที่มีอยู่ เพียงแต่ทำให้เกิดคำถามเพราะ พล.อ.อ.มานัต เลือก พล.อ.อ.แอร์บูล มาเป็น ผบ.ทอ. แต่ทำไม พล.อ.อ.แอร์บูล จึงแก้ไขโครงการของ พล.อ.อ.มานัต ที่ทำไว้ ก็ทำให้มองย้อนกลับไปว่า แท้จริงแล้ว พล.อ.อ.มานัต เป็นคนเลือก พล.อ.อ.แอร์บูล จริง ๆ หรือไม่ ” แหล่งข่าว ทอ.ระบุ
ความไม่ลงรอยที่ยากเกินประสานระหว่าง ‘บิ๊ก ทอ.’ซึ่งคนหนึ่งกลายเป็นอดีต แต่อีกคนมีอำนาจเต็มมือจะส่งผลต่อ ‘พล.อ.อ.ชานนท์’ ที่ถูกวางตัวให้เป็น ‘ผบ.ทอ.’ คนต่อไป เพื่อสานต่อแผนพัฒนากองทัพ ในการตั้งไข่โครงการจัดหาเครื่องบินรบฝูงใหม่ทดแทนหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องน่าคิด
เพราะ พล.อ.อ.แอร์บูล ยังมีเพื่อนรัก ‘บิ๊กตั้ว’ พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ วัฒนวรางกูร ผู้บัญชาการกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ (ผบ.คปอ.) ที่ทำตัวติดกันเป็นตังเม ‘เช้าถึง-เย็นถึง’ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการปี 2565 มาเป็นตัวเลือก จนทำกองเชียร์จาก ‘กองบิน 4’ ต้องหวั่นใจไม่น้อย เพราะก่อนหน้านั้นได้ปรับเปลี่ยนฮวงจุ้ยแก้เคล็ดกันไปยกใหญ่
ดังนั้นอีก 3 เดือนข้างหน้าคงได้พิสูจน์ความเชื่อที่ว่า ‘ผู้การกองบิน 4’ ชวดตำแหน่ง ‘ผบ.ทอ.’ ทุกราย จะเป็นเก้าอี้อาถรรพ์สมคำร่ำลือของ ลูกทัพฟ้าหรือไม่