‘พรรคลุงพล’ แนวรบยูทูบเบอร์
ลุงพลกลายเป็น “เซเลบ” ชั่วข้ามคืน เมื่อทีวีดิจิทัลอย่างน้อย 2 ช่อง แข่งกันรายการข่าวคดีน้องชมพู่ ทีวีดิจิทัลยุคล่าเรตติ้งได้นำเทคนิค Immersive graphic หรือ ‘กราฟิกจำลองสถานการณ์’
ในที่สุด ข่าว “ลุงพล” ได้ยกระดับจาก “ละครในข่าว” เป็น “ข่าวการเมือง” ตามสคริปต์ที่ “เซเลบทนาย” ได้กำหนดไว้ ตั้งแต่เล่นบทขอมดำดินมาโผล่มอบตัวที่ สตช. ก่อนจะนั่ง ฮ.ตำรวจ กลับไปศาลมุกดาหาร
ก่อนจะมีการนัดหมายกับ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตจตุจักร ให้เข้ามาร้องเรียนต่อกรรมาธิการกฎหมายฯ ที่อาคารรัฐสภา
ทำไมต้องเป็น ส.ส.เมืองหลวง? ทำไมไม่ไปร้องทุกข์กับ ส.ส.มุกดาหาร?
บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร อยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีผู้แทนชื่อ บุญฐิน ประทุมลี สังกัดพรรคเพื่อไทย และเป็น ส.ส.มา 2 สมัยแล้ว
ดงหลวง..เป็นเขตอิทธิพลของ “คนเสื้อแดง” ชาวบ้านส่วนใหญ่จะชื่นชอบทักษิณ ชินวัตร “บุญฐิน” จึงหาเสียงง่าย หากจะมีคู่แข่งก็เป็นพรรคก้าวไกล ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในมุกดาหาร
ตลอดช่วงที่เกิดเหตุคดีน้องชมพู่ ส.ส.บุญฐิน ไม่ได้แวะเข้ามาที่บ้านกกกอกเลย เพราะรู้ดีว่า ในหมู่บ้านเกิดความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เฉพาะครอบครัวของน้องชมพู่ ยังแตกเป็น 3 ขั้ว
มีแต่นายอำเภอดงหลวง พยายามเข้าไปสร้างภาพ “ทำนาสมานฉันท์” สร้างความสามัคคีภายในหมู่บ้าน ก็ได้แค่อีเวนท์ราชการ พอนายอำเภอกลับไป ก็ทะเลาะกันตามเดิม
วันที่ 21 ก.ค.2563 สิระ เจนจาคะ ในฐานะประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นำคณะลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านกกกอก และรับฟังรายงานการสอบสวนของคณะสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4
วันที่ 9 มิ.ย.2564 “ทนายตั้ม” ษิทรา เบี้ยบังเกิด ได้นำ “ลุงพล” ไชย์พล วิภา เข้าพบสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการการกฎหมายฯ เพื่อให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับลุงพล และทำการจับกุมลุงพลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ภาพวันที่ “ลุงพล” สวมสูทเข้าสภาฯ แตกต่างจากภาพลุงพล ขึ้นเวทีร้องเพลง “เต่างอย” คู่กับจินตหรา พูนลาภ ซึ่งวันนี้ ลุงพลไม่ต่างจากนักการเมืองคนหนึ่ง
บ่ายวันที่ 8 มิ.ย.นี้ ลุงพลได้เรียกบรรดา “ยูทูบเบอร์” ในเครือข่ายมารวมตัวกันที่บ้านพัก โดยลุงพลเปิดใจผ่านยูทูบเบอร์ ประมาณ 30 ช่อง โดยไลฟ์พร้อมกัน ลุงพลขอร้องเอฟซี ทั้งในและนอกประเทศ อย่าได้กังวลเรื่องคดีความ การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทีมทนายตั้มได้เตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว
“เรื่องการให้สัมภาษณ์สื่อหลัก เอฟซีไม่ต้องห่วง เราจำเป็นต้องมีสื่อทีวีเป็นแนวร่วม เพราะการต่อสู้เราอีกยาวไกล..”
จากนั้น ลุงพล-ป้าแต๋น จึงขับรถไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินอุดรธานี พร้อมกับยูทูบเบอร์คู่ใจอีก 2-3 ช่อง พร้อมมอบหมายยูทูบเบอร์ที่เหลือเฝ้าสังเกตการณ์ “คนแปลกหน้า” ซึ่งจะเข้ามาที่บ้านกกกอก
ดังที่รู้กัน ลุงพลกลายเป็น “เซเลบ” ชั่วข้ามคืน เมื่อทีวีดิจิทัลอย่างน้อย 2 ช่อง แข่งกันรายการข่าวคดีน้องชมพู่ ทีวีดิจิทัลยุคล่าเรตติ้งได้นำเทคนิค Immersive graphic หรือ ‘กราฟิกจำลองสถานการณ์’ เข้ามาช่วยอธิบายและเล่าเหตุการณ์คดีน้องชมพู่ ให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ บวกกับการส่งนักข่าวลงพื้นที่เกาะติด พูดคุยกับ “ตัวละคร” ในหมู่บ้านกกกอก
จากข่าวอาชญากรรมทั่วไป ก็กลายเป็น “ละครในข่าว” มีการนำเสนอทุกวัน วันละเกือบ 1 ชั่วโมง นี่คือการสร้างละครฉากใหญ่ซ้อนทับลงไปบนเรื่องจริง
พลันที่สื่อทีวีสร้าง “ลุงพล-ป้าแต๋น” ให้กลายเป็นคนดังระดับประเทศ มีเอฟซีมากมาย “นักยูทูบเบอร์” ก็เข้ามาที่บ้านกกกอก เพื่อเกาะติดชีวิตลุงพล สร้างยอดวิว สร้างรายได้จากยูทูบ ตามมาด้วยการขายสินค้าเป็นรายได้เสริม