หนุน 'ล็อกดาวน์' คุมโควิด-19 พร้อมมาตรการเยียวยา ปชช. ทุกกลุ่ม
"มาดามเดียร์" หนุน "ล็อกดาวน์" คุมโควิด-19 แต่ต้องมาพร้อมมาตรการเยียวยา ปชช. ทุกกลุ่ม แนะผู้นำ เรียกคืน "ศรัทธา" ด้วยการเปิดข้อมูลจริง
น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีออกมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะยอดผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อเช้าวานนี้ (7 ก.ค.) ทุบสถิติสูงสุดของประเทศไทย
และดูทีท่าว่าแนวโน้มตัวเลขจะยังคงสูงมากขึ้นต่อเนื่อง ตัวเลขของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่า 1.4 เท่าเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ทีมแพทย์และพยาบาลด่านหน้าต่างออกมาส่งเสียงร้องถึงความอ่อนล้าในการต่อสู้กับไวรัสโควิดมาปีกว่า จนหลายท่านถึงกับคาดการณ์ปัญหาว่าหากรัฐบาลยังปล่อยสถานการณ์ให้ดำเนินไปเหมือนเดิม ระบบสาธารณสุขไทยอาจต้องถึงคราวล่มสลายแล้วของจริง
"สนับสนุนให้นายกฯ ตัดสินใจล็อกดาวน์ แต่ต้องเตรียมมาตรการต่างๆให้พร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การวางแผนรับมือระยะยาวในการต่อสู้กับไวรัสโควิด19 ให้กับคนไทยที่จะต้องอยู่กับโควิด19ไปอีกนาน" น.ส.วทันยา ระบุ
น.ส.วทันยา ระบุอีกว่า การเร่งจัดซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มงบวิจัยวัคซีน และยาสมุนไพรไทยต่างๆที่อาจเป็นทางเลือกในการใช้สร้างภูมิต้านทานและเป็นยาเพื่อรักษานอกจากการพึ่ง Favipiravir เพียงอย่างเดียว ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาแล้วกว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี และจากความคืบหน้าหลายโครงการก็คาดว่าจะมีข่าวดีมาให้คนไทยได้ภายในปลายปีนี้หรือช่วงต้นปีหน้า แต่หากเทียบงบวิจัยในหลายประเทศยังพบว่างบวิจัยวัคซีนของเรายังอยู่ในปริมาณที่ไม่สูงมาก
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การสนับสนุนงบวิจัยเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอเพราะเราจำเป็นต้องการวางแผนการขยายกำลังผลิตและการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์การแพทย์เพื่อเร่งกระจายวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด เพราะวัคซีนที่มีประสิทธิภาพคืออาวุธสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น
นอกจากนี้การควบคุมการแพร่ระบาดที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือการเร่งตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อคัดแยกผู้ป่วยทำการกักตัว แต่ตั้งแต่เริ่มต้นการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 จนถึงปัจจุบัน ปัญหาการตรวจคัดกรองผู้ป่วยยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ในขณะที่หลายประเทศวันนี้ประชาชนสามารถหาซื้อที่ตรวจเชื้อโควิดได้ตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อทำการเทสต์เองได้ที่บ้าน
แม้ความแม่นยำอาจไม่เทียบเท่ากับการตรวจโดยสถานพยาบาล แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานให้กับหน่วยงานด่านหน้าอย่างแพทย์และพยาบาล รัฐฯควรเร่งจัดหาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจด้วยชุดตรวจแบบ แรพิดเทสต์ (Rapid Test) ที่สามารถใช้ตรวจเองที่บ้าน (Home Use) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอีกทางหนึ่ง
ที่สำคัญการล็อกดาวน์ต้องมาพร้อมกับมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนไม่มีสายป่านและโอกาสเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ แต่เป็นกำลังหลักสำคัญที่ทำให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ประชาชนฐานราก รัฐฯต้องมีแผนช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน สื่อสารกับผู้ประกอบการและออกหลักเกณฑ์การเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน
"อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้ในการแก้ปัญหาโควิด 19 นั้นคือ ศรัทธา ของประชาชนต่อผู้นำประเทศ นาทีนี้การสร้างศรัทธาที่ที่ดีที่สุดคือการเปิดเผยข้อมูลจริง เพื่อให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน" น.ส.วทันยา กล่าวทิ้งท้าย