‘วิกฤติโควิด-เรือดำน้ำ’ปมร้อน สนิมกัดกร่อน‘เรือเหล็กประยุทธ์’
โควิดปิดล้อมเมือง ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาเบาบางลง เสียงเรียกร้องในการนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และการซื้อ 'เรือดำน้ำ' ท่ามกลางวิกฤติไวรัส กลายเป็นปมร้อสะท้อนไปถึงวิกฤติศรัทธารัฐบาล ลามเป็นสนิมที่เกาะกินเรือเหล็กที่ชื่อ "รัฐบาลประยุทธ์"
สถานการณ์โควิดปิดล้อมเมืองจนตัวเลขทะยานทะลุหมื่นเวลานี้ บรรดานักวิเคราะห์การเมืองหลายสำนักต่างทำนายทายทักว่า ในห้วงเดือน ส.ค.-ก.ย.จะเป็นห้วงเวลาอันตรายของรัฐบาลประยุทธ์
อาการเพลี่ยงพล้ำและวิกฤติศรัทธาเสื่อมถอยรอบรัฐบาลนี้เอง เป็นช่วงที่ฝ่ายค้านคว้าจังหวะ “ตีเหล็กตอนร้อน” เปิดเกมรุกผ่านการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 แบบลงมติในเดือน ส.ค.2564 คาดว่าจะได้อภิปรายก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 ก.ย.นี้
รายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกซักฟอกรอบนี้ ถูกจั่วหัวโดย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยว่า มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. รวมถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข อย่างแน่นอน
ประเด็นที่ถูกหยิบมาขยายแผลใหญ่กลางสภารอบนี้ หนีไม่พ้นความล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด รวมถึงแผนจัดหาวัคซีนที่พลาดเป้า จนเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยานทะลุหลักหมื่น ซ้ำตัวเลขผู้เสียชีวิตยังเกิดปรากฎการณ์นิวไฮด์ไม่เว้นแต่ละวัน
ขณะที่นอกสภาฯ รัฐบาลประยุทธ์ยังเผชิญกับแรงกดดัน ที่เวลานี้ไม่ได้มีแต่ผู้ชุนุมกลุ่มต่างๆ หรือเป็นม็อบเด็ก-ม็อบผู้ใหญ่เหมือนที่ผ่านมา หากแต่ยังมีการเคลื่อนไหวมาจากเครือข่าย และบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “หมอไม่ทน” ที่ก่อนหน้านี้รวมตัวแต่งดำ ยื่นข้อเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเข้าวัคซีน mRNA ให้ได้เร็วที่สุด เเละนำมาใช้เป็นวัคซีนหลักในการป้องกันการระบาด
หรือการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่พบความเคลื่อนไหว “ภาคีบุคลากรสาธารณสุข”สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องในการชุมนุม 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข 2. ปรับลดงบประมาณสถาบัน-กองทัพสู้โควิด 3. เปลี่ยนวัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีน mRNA
ยังไม่นับรวมการปลุกกระแสให้ผู้ได้รับผลกระทบ หรือญาติผู้เสียชีวิตฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์ และผู้เกี่ยวข้อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ปรากฎออกมา ณ เวลานี้
ไม่ต่างไปจากปม “จัดซื้อเรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือ เวลานี้กลายเป็นประเด็นร้อน ที่แม้ล่าสุดกองทัพเรือ จะถอนเรื่องเสนอของบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาท ออกจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตามบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปแล้ว แต่ยังนำมาซึ่งเสียงทวงถามถึงเหตุผล และความจำเป็นในสภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญภัยรุกรานจากเชื้อไวรัส ลามเป็นเป้าสำคัญที่ไปเข้าทางฝ่ายค้าน ในการหยิบยกมาเป็นประเด็นขยายแผลใหญ่กลางสภาฯ
โดยเฉพาะสัญญาซื้อขาย ที่ทางกองทัพเรืออ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ว่าท้ายที่สุดจะเป็นจีทูจีจริง หรือเก๊?
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนวิกฤติศรัทธาของรัฐบาลที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต่างกับสนิมที่กำลังกัดกร่อน “เรือเหล็กประยุทธ์” อยู่ ณ เวลานี้
ยังไม่นับรวมเกมการเมืองที่กำลังรุกเร้าให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว เพื่อตัดวงจร “ระบอบประยุทธ์” ที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรีถึงขั้นประกาศกร้าวระหว่างประชุมครม. "ผมไม่ทิ้งคุณ พวกคุณจะทิ้งผมก็ตามใจ"
จากนี้ต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงบิ๊กรัฐบาล จะแก้เกม “ขัดสนิม-ยาแนวอุดรอยรั่ว”เหล่านี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เรือเหล็กลำนี้อับปางลง