กทม.เตรียมลุยฉีดวัคซีน 'พระ-สัปเหร่อ' 221 วัด เริ่ม 30 ก.ค.นี้
กทม.เตรียมลุยฉีดวัคซีน "พระ-สัปเหร่อ" 221 วัด กรุงธนเหนือ-กรุงธนใต้เริ่ม 30 ก.ค.นี้
วันที่ 29 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิดเพื่อส่งต่อ ปัจจุบัน กทม.ได้จัดตั้งไปแล้วจำนวน 59 แห่ง อยู่ในพื้นที่ 50 เขต เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 26 แห่งรองรับผู้ป่วยได้จำนวนทั้งสิ้น 7,368 เตียง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษารองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงได้ปรับศูนย์พักคอยเป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 7 แห่ง ดังนี้ 1.ศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร เขตจตุจักร 120 เตียง 2.อาคารวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการเจ้าพระยา เขตราชเทวี 170 เตียง 3.วัดสุทธิวราราม เขตสาทร 106 เตียง 4.ร้านจงกั๋วเหยียน เขตลาดกระบัง 200 เตียง 5.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 200 เตียง 6.วัดศรีสุดาราม (อาคารศาลาวิจิตร รัตนศิริ วิไล) เขตบางกอกน้อย 90 เตียง และ7.ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) 150 เตียง รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,036 เตียง
ทั้งนี้ สำนักงานเขตบางกอกน้อย และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ ร่วมกับวัดศรีสุดารามวรวิหาร กำหนดให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกแก่พระ สัปเหร่อ และมัคทายก ตลอดจนบุคลากรอื่น ๆ ของวัด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ตลอดจนการจัดการฌาปนกิจศพ เริ่มดำเนินการวันที่ 30 ก.ค.2564 เป็นต้นไปโดยนำร่องในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ จำนวน 15 เขต รวมทั้งสิ้น 221 วัด ประกอบด้วย
กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 8 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน 8 วัด เขตจอมทอง 17 วัด เขตตลิ่งชัน 29 วัด เขตทวีวัฒนา 4 วัด เขตธนบุรี 25 วัด เขตบางกอกน้อย 32 วัด เขตบางกอกใหญ่ 14 วัด เขตบางพลัด 23 วัด รวมจำนวน 152 วัด
กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 7 เขต ได้แก่ เขตทุ่งครุ 4 วัด เขตบางขุนเทียน 16 วัด เขตบางบอน 3 วัด เขตบางแค 5 วัด เขตภาษีเจริญ 27 วัด เขตราษฎร์บูรณะ 7 วัด และเขตหนองแขม 7 วัด รวมจำนวน 69 วัด โดยจะขยายการฉีดวัคซีนให้แก่พระ สัปเหร่อ และมัคนายก ในพื้นที่กลุ่มเขตอื่นๆ ต่อไป
ขณะเดียวกันสำนักอนามัย ได้ออกข้อปฏิบัติในการจัดการศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด สำหรับผู้ปฏิบัติงานฌาปนสถาน โดยจะดำเนินการให้ความรู้และคำแนะนำในการฌาปนกิจศพผู้ป่วยโควิด-19 อย่างถูกวิธี ให้กับพระและสัปเหร่อ ตลอดจนผู้มีหน้าที่จัดการพิธีศพเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงาน และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19
นอกจากนี้ กทม.ได้นำชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เข้ามาใช้ในการตรวจค้นหาเชิงรุก เพื่อให้ทราบผลตรวจที่รวดเร็ว เนื่องจากการตรวจ RT-PCR ต้องรอผลตรวจจากแล็บ ซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ผลยืนยันเพื่อเข้ารับการรักษา หากพบผู้ป่วยได้รวดเร็วจะทำให้เข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงจะได้แยกกักตัวเองไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น โดยเข้าระบบแยกกักตัวอยู่บ้านหรือเข้าพักที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ
ในส่วนการดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่บ้านนั้น ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ การส่งอาหารโดยสมาคมภัตคารไทย การส่งยาโดยตำรวจ สน.ท้องที่ การประสานงานและติดตามอาการโดยอาสาสมัครสาธารณสุขและศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งการแยกกักตัวรักษาที่บ้านแบบ HI เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว โดยประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน หรือถ้าอยู่บ้านไม่ได้ก็ให้ชุมชนช่วยกันดูแล