"พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" ส่อแววแท้งตั้งแต่ยังไม่คลอด หลังเสียงคัดค้านแรง ถูกมองออก "กฎหมายนิรโทษ" มาคุ้มครองฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ประชาชน
กระแสคัดค้าน "ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุน่าจะมาจากความไม่เชื่อมั่นการทำงานของ "รัฐบาล" ที่กำลังขยายตัวไปทุกหัวระแหง
แม้จะน้อยว่าตัวเลขอัตราการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่วันนี้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว 91% ทว่าความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลมีโอกาสแซงในไม่ช้า ถ้าฝ่ายนโยบายยังคงบริหารจัดการโควิดผิดพลาด ซ้ำแล้วซ้ำอีก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่อง "พ.ร.ก.จำกัดความรับผิด" นายวิษณุยืนยันไม่มีใครเคยเห็นร่างกฎหมายฉบับนี้ การหารือที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ชี้แจง ครม.ว่า
เป็นการหารือของคณะแพทย์หลังได้รับการร้องเรียนจากบุคลากรทางการแพทย์ที่กังวลต่อการปฏิบัติหน้าที่ ยังไม่ถึงขั้นตอนการยกร่างของกระทรวงสาธารณสุข นายวิษณุจึงได้แนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปคิดให้ดี เพราะเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นและสถานการณ์ยังไม่เข้าข่ายให้ออกเป็น พ.ร.ก.
เราเชื่อว่า ประชาชนที่ติดตาม ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ส่วนใหญ่ คงไม่เชื่อว่าแนวคิดการออกกฎหมายครั้งนี้จะมาจากฝ่ายปฏิบัติชงขึ้นมา ขณะที่ฝ่ายค้านมั่นใจว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือฝ่ายนโยบายเพื่อคุ้มครองตัวเอง โดยอาศัยฝ่ายแพทย์มาเป็นข้ออ้าง เป็นการออกมาเพื่อนิรโทษกรรมให้ ครม. หากถูกฟ้องร้องภายหลัง ไม่ว่ากรณีประเทศไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์จนก่อให้เกิดความสูญเสีย หรือการบริหารจัดการวัคซีนล้มเหลวผิดพลาดสร้างความเสียหายให้ประเทศ
ในทางปฏิบัติ การออกกฎหมายใดๆ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ประชาชนคงไม่ขัดข้อง ยิ่งหากดำเนินการดังกล่าว ทำเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เสียสละด่านหน้าในวิกฤตโควิด ยิ่งต้องสนับสนุน แต่หากมีการเหมาเข่งเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
แม้วันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะยุติ แต่ในภาวะที่ตัวเลขการแพร่ระบาดขณะนี้ยังอยู่ในระดับสูงพบผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ย 2 หมื่นรายต่อวัน และแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป เราเชื่อว่า มีโอกาสสูง ที่ พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ จะแท้งก่อนกำหนด หรือหากมีการนำเข้าสู่วาระในสภา ก็จะโดนคว่ำอย่างแน่นอน
เราเห็นว่า วันแม่แห่งชาติ (12 ส.ค.64) ปีนี้ นักการเมืองซึ่งเสนอตัวมารับใช้ประชาชน พึงตระหนักใช้โอกาสมงคลนี้ ทบทวนและปรับปรุงการทำงาน เลิกพฤติกรรมฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์หรือคิดหลบเลี่ยงให้ตนพ้นผิดบนความเป็นความตายของประชาชน
อย่าให้มีการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ว่าเมื่อครั้งเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ปี 2564 นักการเมืองของไทยยังมีการคอร์รัปชันแต่ไม่สามารถเอาผิด เพราะออกกฎหมายนิรโทษมาคุ้มครองตัวเอง อย่าให้คนรุ่นหลังต้องสาปแช่งเลย เพราะคนที่จะรับกรรมคือลูกหลานในตระกูล