เช็ค 12 จุดเสี่ยง 'น้ำท่วม' เดิมพัน 8 เขต 'กทม.' ฝั่งธนฯ-พระนคร
ทุกนาทีที่ฝนตกหนักกระทบ 12 จุดเสี่ยงน้ำท่วมใน 8 เขต ฝั่งธนบุรี-พระนคร กำลังเป็น "เดิมพัน" คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น
จากประเด็นที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ออกมาเตือนให้คนกรุงเทพฯ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักไปจนถึงวันที่ 3 ก.ย.นี้ กำลังเป็นสถานการณ์ "เฝ้าระวัง" พื้นที่เสี่ยงจุดอ่อนน้ำท่วมซึ่งเป็นจุดน้ำท่วมเป็นประจำ หากมีปริมาณฝนเกินกำลังระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ
ในช่วงกลางเดือน ส.ค.ถึงกลางเดือน ต.ค.ของทุกปีจะมีปริมาณ "ฝนตกหนัก" ในกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อวันที่ 26-29 ส.ค.ในกรุงเทพฯ มีฝนตกหนักมากกว่า 150 มิลลิเมตร โดยพื้นที่กรุงเทพตะวันออก มีฝนตกหนักสูงสุดถึง 189 มิลลิเมตรในเขตหนองจอกและลาดกระบัง
ยิ่งสถิติฝนสะสมเมื่อวันที่ 29 ส.ค.64 พบว่าในกรุงเทพฯ มีฝนมากถึง 1,176 มิลลิเมตร เทียบปริมาณสูงกว่าปี 2563 ที่มีฝนอยู่ที่ 950 มิลลิเมตร โดยเฉพาะปริมาณฝน "สูงกว่าค่าเฉลี่ย" สะสม 30 ปีทุกวันที่ 29 ส.ค. ที่มีฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,026.4 มิลลิเมตรเท่านั้น
ที่ผ่านมา กทม.จึงเร่งพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม ตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 2554 จนมาถึงในยุคที่ "อัศวิน" ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จาก คสช.ในปี 2559 ขณะนั้น พื้นที่กรุงเทพฯ มีจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมหลายจุด ทั้งในฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร
"กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบไปที่ "จุดเสี่ยงน้ำท่วม" กทม.ตั้งแต่ปี 2559 มีดังนี้
ปี 2559 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 19 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 60 จุด
ปี 2560 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 19 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 60 จุด
ปี 2561 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 17 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 53 จุด
ปี 2562 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 56 จุด
ปี 2563 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 56 จุด
ปี 2564 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 51 จุด
สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมในปี 2563 ลดลง 2 แห่งใน "เขตจตุจักร" ที่ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร และ "เขตมีนบุรี" ที่ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวา ถึงคลองแสนแสบ
ขณะที่ 12 จุดเสี่ยงน้ำท่วมที่ลดลงในปี 2564 ซึ่ง กทม.ให้นิยาม "จุดเสี่ยงน้ำท่วม" ไว้ว่าเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม กรณีฝนตกปานกลางถึงหนัก ซึ่ง "กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมข้อมูลแบ่งได้ดังนี้
• พื้นที่ฝั่ง "พระนคร" 9 จุดใน 6 เขต
เขตจตุจักร 1.ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ
เขตบางซื่อ 2.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน
เขตหลักสี่ 3.ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงจากคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร
เขตดุสิต 4.ถนนราชวิถี บริเวณหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธนบุรี
เขตราชเทวี 5.ถนนพญาไท บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ 6.ถนนศรีอยุธยา บริเวณหน้า สน.พญาไท
เขตสาทร 7.ถนนจันทน์ ช่วงจากซอยบำเพ็ญกุศล ถึงที่ทำการไปรษณีย์ยานนาวา 8.ถนนสวนพลู ช่วงจากถนนสาทรใต้ ถึงถนนนางลิ้นจี่ 9.ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์
• พื้นที่ฝั่ง "ธนบุรี" 3 จุดใน 2 เขต
เขตบางขุนเทียน 10.ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ช่วงจากถนนพระรามที่ 2 ถึงคลองสะแกงาม
เขตบางแค 11.ถนนเพชรเกษม ช่วงจากคลองทวัฒนา ถึงคลองราชมนตรี 12.ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ ช่วงจากถนนเพชรเกษม ถึงวงเวียนกาญจนาภิเษก
"อัศวิน" เปิดเผยว่า ภายในปี 2564 กทม.มีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ก่อสร้างจนเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 5 โครงการ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มากกว่าเดิม โดย 5 โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่สร้างเสร็จในปีนี้ ประกอบด้วย 1.สถานีสูบน้ำ 7 แห่ง 2.บ่อสูบน้ำ 5 แห่ง 3.แก้มลิง 2 แห่ง 4.แหล่งเก็บน้ำ 2 แห่ง 5.ท่อทางด่วนระบายน้ำ 1 แห่ง โดยในปี 2565 กทม.วางเป้าหมาย ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้เหลือ 8 จุดและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมให้ลดลงเหลือ 36 จุด
ประเด็นสำคัญที่ "อัศวิน" สั่งไปที่สำนักระบายน้ำ กทม.นั้นได้วางไว้ 3 ระดับตั้งแต่ "ก่อนฝนตก-ระหว่างฝนตก-หลังฝนตก" โดยก่อนฝนตกให้แจ้งเตือนประชาชนจากระบบเรดาห์ของ กทม. โดยเฉพาะ "ระหว่างฝนตก" ให้เร่งระบายน้ำในจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 แห่งให้เร็วที่สุด เพราะหากการระบายน้ำเข้าสู่ระบบ "ระบายน้ำหลัก" ไม่สามารถทำได้เต็มกำลัง ต้องเร่งระบายน้ำเข้าระบบ "ระบายน้ำรอง" หรือจุดย่อย เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น
ระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. เป็นช่วงเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังสถานการณ์ "ฝนตกหนัก" ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยฝนสะสมอยู่ที่ 35-90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง โดยที่ระบบระบายน้ำ ของ กทม.รองรับได้ประมาณ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หมายถึงทุกนาทีที่ฝนตกหนักกระทบกับ 12 จุดเสี่ยงน้ำท่วม กำลังเป็น "เดิมพัน" คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ไปด้วย.