เปิดปูม 'นักรบไซเบอร์' ไอโอ 'กองทัพ'?

เปิดปูม 'นักรบไซเบอร์' ไอโอ 'กองทัพ'?

แม้ 'กองทัพบก' จะปฎิเสธข้อครหาทำ 'ไอโอ' ตอบโต้ผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่ก็ปรากฎหลักฐานทหารเรียนรู้โซเชียลฯสู่สังคมต่อเนื่อง นับเป็นประเด็นที่สร้างความคลุมเครือมาถึงทุกวันนี้

ว่าด้วยเรื่องปฏิบัติการ 'ไอโอ' ของกองทัพ ที่ถูก ส.ส. ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ พรรคก้าวไกล งัดเอกสาร ภาพ คลิปเสียง กล่าวหา กองทัพภาคที่ 2 จัดตั้ง 'นักรบไซเบอร์'สร้าง เฮทสปีช และ เฟกนิวส์ ด้อยค่าผู้เห็นต่างทางการเมือง ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดย พล.ท.ธเนศ วงษ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 ได้ส่งผู้แทนไปแจ้งความดำเนินคดี หลังตรวจพบว่า เอกสารดังกล่าวถูกปลอมแปลงทางรูปแบบให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งอ้างจากชื่อ ลายเซน ยศ เลขที่หนังสือ ที่ไม่ถูกต้องในขณะที่ คลิปเสียง รูปภาพ ไม่ทราบที่มา ส่วนภาพทหารต่อแถวรับเบื้ยงเลี้ยงคือของเก่าก่อนโควิดระบาดเนื่องจากไม่สวมแมสก์

เรื่องนี้ฝ่ายไหนพูดจริงหรือเท็จ คงพิสูจย์กันได้ไม่ยาก แต่ข้อครหา 'กองทัพ' ทำ 'ไอโอ' ถูกพรรคก้าวไกล และ คณะก้าวหน้า พูดถึงตลอดในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังปรากฎหลักฐานเอกสารสำคัญ คลิปการประชุมออนไลน์หน่วยทหาร ภาพการฝึกฝนและอบรมกำลังพลใช้โซเชียลมีเดียออกมาเป็นระยะ

แม้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 'กองทัพบก' เคยออกมาปฏิเสธข้อครหาดังกล่าว แต่ยอมรับว่า ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ คือหลักสูตรหนึ่งที่มีการเรียนการสอนในกองทัพ เพราะเป็นปฏิบัติการทางทหารที่มีใช้อยู่ในกองทัพหลายประเทศทั่วโลก จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ให้เกิดความเท่าทัน 

ในขณะ เฟซบุ๊ก เคยแถลงลบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ของไทยไทยที่ระบุว่าเชื่อมโยงกองทัพไทยและรัฐบาล โดยมีเป้าหมายเป็นผู้รับข่าวสารในจังหวัดทางภาคใต้ และโปรโมตเนื้อหาสนับสนุนกองทัพและรัฐบาล จึงเป็นประเด็นที่สร้างความคลุมเครือมาจนถึงทุกวันนี้

หากย้อนไป 1 ปีหลังรัฐประหาร ไทยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ถูกโจมตีผ่านระบบไซเบอร์เป็นอันดับที่ 33 จาก 250 ประเทศทั่วโลก  พล.อ.ประยุทธ์  จึงมีนโยบายและสั่งเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามไซเบอร์ทุกรูปแบบ และมอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นผู้ดูแลภาพรวม

'เหล่าทัพ'ตื่นตัวขนานใหญ่ พัฒนาบุคลากรทางการทหารให้มีความเชี่ยวชาญการปฏิบัติการด้านไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ  มีการนำร่องการอบรมเพิ่มทักษะให้กับกำลังพลของกองทัพ ควบคู่รับพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญมาติดยศทหาร

กองทัพบก เปลี่ยนชื่อ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร เป็น 'ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก' จัดตั้ง 'นักรบไซเบอร์' หรือ 'ทหารรบไซเบอร์ 'ภายใต้กรอบการปฎิบัติงาน 4 ด้าน คือ 1.ภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ 2.ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จสต.) 3.ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสถาบัน 4.ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพ

สอดคล้องสภากลาโหม เห็นชอบร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศ ของกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2560-2564 รองรับยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศเน้นพัฒนาขีดความสามารถ และสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามิติต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการจัดตั้งและเสริมสร้างศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์กระทรวงกลาโหม และ เหล่าทัพ

ในขณะที่ทุกอย่างกำลังเข้าที่เข้าทาง'กองทัพ' ประสบปัญหาอย่างหนัก หลังตกเป็นเป้าโจมตี จากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ด้วยการใช้ปฏิบัติการไอโอ สร้างเฮทสปีชและเฟกนิวส์ ปั่นกระแสทางโซเชียลมีเดียผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ดิสเครดิตทหารจนลามไปสู่สถาบัน

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นตระหนักภัยคุกคามดังกล่าว ที่หวังสร้างความโกลาหล โน้มน้าวจิตใจเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ด้วยการจัดส่งเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญลงไปให้ความรู้ภัยคุกคามไซเบอร์ควบคู่ไปกับสร้างความเข้าใจการใช้โซเชียลมีเดีย ในโรงเรียนสังกัดกองทัพบก ตลอดจนหน่วยทหารทุกแห่งเพื่อให้รู้เท่ากันและต่อยอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

ภารกิจ 'นักรบไซเบอร์' ภาพการฝึกอบรมทหารใช้โซเชียลมีเดียและ คลิปเสียงต่างๆที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายจะเกี่ยวโยงปฏิบัติการ 'ไอโอ' ด้อยค่าผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือไม่ ก็ต้องพิสูจย์กันต่อไป