ยุบ ศบค. สธ. ต้องพร้อม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ้นสุด 30 ก.ย.นี้

ยุบ ศบค. สธ. ต้องพร้อม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ้นสุด 30 ก.ย.นี้

ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาประเมินผลกระทบการ "คลายล็อกดาวน์" และจะมีการพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่คาดว่าจะให้สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้

ในวันที่ 10 ก.ย.2564 ศบค.ชุดใหญ่ จะพิจารณาประเมินผลกระทบสำหรับการ "คลายล็อกดาวน์" มากกว่า 1 สัปดาห์แล้ว และยังจะมีการพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ซึ่งจะให้สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ให้กลับไปใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แทน

ส่งผลให้ ศบค. สิ้นสภาพไปโดยปริยาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตามหน้าที่ปกติ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่จะคืนกลับไปให้ สธ. ดำเนินการดูแลต่อไป

หลักคิดถูกทาง ถูกต้องแล้ว เพราะคาดว่าเราต้องอยู่กับโควิดอีกยาวนาน เพราะฉะนั้นการจัดองค์กร ศบค. รับมือเฉพาะกิจ นับตั้งแต่เราติดเชื้อรายแรก 13 ม.ค.2563 ถือว่าเกินหน้าที่ของหน่วยงานเฉพาะกิจแล้ว จำเป็นต้องให้เดินตามองค์กรปกติที่ต้องรับผิดและรับชอบ

 

แต่หัวใจสำคัญ หน่วยงานที่รับช่วงต่อจาก ศบค. ต้องมีความพร้อมและทำงานได้ดีกว่า ศบค. บุคลากรมีความน่าเชื่อถือ และรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบได้การยอมรับ เหตุที่ต้องย้ำตรงนี้ เพราะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ความน่าเชื่อถือของข้าราชการ สธ. ตกต่ำลงไปมาก ผิดจากช่วงปี 2563 ที่สังคมยังให้การเชื่อถือ ยอมรับมุมมองที่หมอและข้าราชการ สธ.ทั้งหลาย

แต่ตลอดปีนี้ ความน่าเชื่อถือต่ำลงมาก ดังนั้น โดยเฉพาะเมื่อภาพของข้าราชการดูแนบแน่น ตอบคำถามแทนรัฐมนตรี สธ. ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ภาพพจน์ ภาพลักษณ์เหล่านี้ได้ทำลายความน่าเชื่อถือในฐานะผู้เชียวชาญเรื่องโรค วัคซีน และยา เพราะจะมีข้อสงสัยทุกครั้งที่แถลงออกมาว่า กำลังหาคำตอบให้สังคมหรือแก้ต่างให้รัฐมนตรี

ยกตัวอย่าง "วัคซีนไขว้" ในเชิงการแพทย์ อาจจะจริงตามข้อมูลก็ได้ แต่เมื่อความน่าเชื่อถือต่ำ ทำให้งานวิชาการถูกมองเป็นการเมือง สุดท้ายไม่เป็นผลดีต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ

 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ออกมายืนยันด้านการสาธารณสุขมีความพร้อม แต่ต้องหาวิธีบูรณาการกับภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะด้านความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย เรื่องการสนับสนุนระหว่างกันของหน่วยงาน แต่คิดว่าจะต้องหารือกัน

จุดนี้สำคัญมาก เพราะเป้าหมายสำคัญของการจัดตั้ง ศบค. ก็เพื่อบูรณาการหน่วยงานต่างๆ รวมถึงส่วนท้องถิ่นอย่าง กทม. โดยนายกรัฐมนตรี โอนกฎหมาย 31 ฉบับเข้ามาด้วย

ดังนั้น เมื่อต้องโอนอำนาจต่างๆ ในการรับมือโควิดกลับไป สธ. ก็ต้องดู พิจารณาทุกด้านว่าพร้อม อย่างที่รัฐมนตรียืนยันหรือไม่ และเฉพาะตัวของรัฐมนตรีเอง ก็เต็มไปด้วยคำถาม ที่สังคมยังไม่เชื่อมั่นว่าจะขับเคลื่อน รับมือกับสงครามโรคครั้งนี้ได้

ก่อนจะถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 10 ก.ย.นี้ จึงควรตอบคำถามความพร้อมของ สธ. ให้ชัดเจน เพราะการผ่องถ่ายอำนาจครั้งนี้ เป็นอีกหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญของการรับมือวิกฤติ วิกฤติที่มวลมนุษย์ยังไม่เคยเจอ

การรับมือท่ามกลางวิกฤติ ขึ้นอยู่กับประเทศไหนรู้คำตอบได้ดีกว่ากัน และหากประเทศไทยรับมือหรือหาคำตอบไม่ได้ ก็จะตกเป็นประเทศล้าหลังในที่สุด