‘แสงสว่าง’ ริบหรี่ ที่ปลายอุโมงค์ ท่ามกลางการเมืองน้ำเน่า
เดดไลน์เปิดประเทศใน 120 วัน ต.ค. นี้ ใกล้เข้ามาทุกที สวนทางวัคซีนที่ล่าช้า มาตรการที่ล้มเหลว ไม่เว้นแม้แต่การเมืองน้ำเน่า อาจทำให้แสงสว่างที่อยากจะเห็นปลายอุโมงค์ เป็นเพียงแสงริบหรี่ที่รอวันดับ
ประเทศไทยเผชิญโรคระบาดครั้งร้ายแรงที่สุด ยอดคนป่วย เจ็บ และตาย มากมาย “โควิด-19” ไม่เพียงพรากบุคคลอันเป็นที่รัก หากยังพราก “อนาคต” ของคนไทยและอนาคตของชาติไปด้วย
การบริหารจัดการแก้ปัญหาโควิดที่เนิ่นนานมามากกว่า 2 ปี เดินทางมาอย่างทุลักทุเล จนวันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงสูงระดับหลักหมื่น ที่ว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า อาจกลับมาสู่จุดสูงสุดอีกครั้งหรือไม่ หากการฉีดวัคซีนยังครอบคลุมทั่วประเทศไม่มากพอ
ท่ามกลางมาตรการ “คลายล็อก” ผู้คนเริ่มใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น รับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น เดินทางข้ามจังหวัดกันมากขึ้น ถือว่าเป็นความ “เสี่ยง” หากเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนของทั้งประเทศยังไม่ครอบคลุมเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นได้
ความหวังที่จะอยู่ร่วมกับโควิดจะยิ่งไกลออกไป อยู่ร่วมได้แต่ต้องมีชั้นเชิง ไม่ใช่อยู่ร่วมได้ในจินตนาการ หลอกตัวเองว่าปัญหาทุกอย่างคลี่คลายแล้ว แต่ความเป็นจริง ปัญหายังคาราคาซัง อุปกรณ์ช่วยชีวิตยังขาดแคลน ยิ่งใกล้เดดไลน์เปิดประเทศใน 120 วัน ที่จะถึงกลางเดือน ต.ค. นี้ ยิ่งเป็นโจทย์ใหญ่ รัฐต้องหามาตรการรับการเปิดประเทศแบบอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้
ภาพรวมการฟื้นฟูจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งสปีด อัดมาตรการเยียวยาทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน และตรงจุด เศรษฐกิจประเทศไทยโดยรวม ต้องพึ่งพาด้านการบริการเป็นหลัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่เป็นขุมทรัพย์สำคัญ การระบาดของโควิดทำให้การท่องเที่ยวหายไป ประเทศสูญเสียเม็ดเงินในส่วนนี้ไปมหาศาล
รัฐบาลจึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นเพื่ออุดช่องโหว่นี้ แม้อาจมองได้ว่าหลังการคลายล็อก รายได้จากภาคบริการ การอุปโภคบริโภค จะดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงมาตรการสนับสนุนเยียวยาที่ยังคงเหลือ หรือแม้แต่รายได้จากการท่องเที่ยว ที่คาดหวังว่าจะฟื้นกลับได้เร็ว จากการปูทางไว้ที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
แต่หากมาตรการควบคุมโควิดไม่เต็มที่ 100% ภาพฝันที่วาดไว้ก็อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง ที่สำคัญเราไม่อยากเห็นคลัสเตอร์ใหม่ หรือการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าเกิดขึ้นอีก
ท่ามกลางฝุ่นควันของโรคระบาดที่ยังฟุ้งกระจายไปทั่วประเทศ “ความไม่มีเสถียรภาพของการเมือง” ยังเป็นอีกปัจจัยที่น่าห่วง หากการทำงานของรัฐบาลไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความขัดแย้งที่พร้อมก่อตัว สุมไฟไหม้ได้อยู่ตลอด การชิงดีชิงเด่นที่ไม่ได้สร้างผลประโยชน์อันใดให้ประชาชน จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการขับเคลื่อนองคาพยพการฟื้นฟูประเทศจากนี้
วิกฤติโควิดบีบให้ทั้งโลกต้องจัดระเบียบวิธีคิดใหม่ แต่ประเทศไทยยังคงหมกมุ่น วุ่นวายอยู่ในโลกของ “การเมืองแบบเก่า การเมืองน้ำเน่า” ที่ยิ่งไม่เคยสร้างผลประโยชน์อะไรให้ประเทศเลย รังแต่จะเป็นตัวถ่วง ฉุดรั้งความเจริญ แสงสว่างที่อยากจะเห็นปลายอุโมงค์ จึงยังเป็นเพียงแสงริบหรี่ที่รอวันดับ