“เม็ดเงินต่างชาติ” หัวใจฟื้นฟูประเทศ
รมว.กระทรวงการคลัง ย้ำชัดผ่านปาฐกถาพิเศษ ชี้ ประเทศไทยมีขีดความสามารถ เช่น "โครงการอีอีซี" มุ่งเน้นการเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีชั้นสูงและการเพิ่มศูนย์กลางท่องเที่ยว จะเป็นโอกาสที่ดีและนำ "เม็ดเงินต่างชาติ" เข้าประเทศ
ในงาน LiVE Demo Day : The New Road to Capital Market จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งระบุว่า มีคำถามว่ารัฐบาลกู้เงินเยอะแล้วหนี้เพิ่ม ขณะที่รายได้ไม่เพิ่ม เราจะเป็นหนี้
พูดกันเยอะว่า ขีดความสามารถ เราไม่มีปัญญาหารายได้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ประเทศไทยมีความสามารถ อย่างโครงการลงทุนอีอีซี โครงการใหญ่ที่มุ่งเน้นการเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีชั้นสูงและการเพิ่มศูนย์กลางท่องเที่ยว จะเป็นโอกาสและรายได้เข้าประเทศ
นับตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในปี 2561 ถึง มิ.ย.2564 มีการลงทุนที่ได้รับอนุมัติแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94% จากเป้าหมายแผน 5 ปี ที่ตั้งไว้ 1.7 ล้านล้านบาท
ล่าสุด มีการตั้งเป้าหมายการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า เป็น 2.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มการลงทุนให้ได้อีกปีละ 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. การขอส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ
2. การเร่งรัดและชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ
3. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน
2 ปีที่ผ่านมา "โควิด-19" กระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใช้มาตรการดูและผลกระทบเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป ทั้งการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจำนวนมากจากนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน
ส่วนหนึ่งคือการเดินหน้า "เปิดประเทศ" รับนักท่องเที่ยวโดยใช้ "ภูเก็ตโมเดล" อีกส่วนสำคัญคือการออกมาตรการใหม่ในการดึงดูดชาวต่างชาติและเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ เราเห็นว่าแผนดังกล่าวสอดรับกับความเคลื่อนไหวของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.64
ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ด้วยการจูงใจชาวต่างชาติเข้าประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) ดำเนินการภายใน 5 ปีงบประมาณ 2565-2569
คาดว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในไทย 1 ล้านคน เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท ทำให้ไทยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่รัฐบาลส่งเสริม
เราเห็นด้วยกับนโยบายหารายได้ทดแทนที่ขาดหายไป การออกมาตรการจูงใจชาวต่างชาติระดับบนที่มีศักยภาพสูง เป็นการดึงเม็ดเงินเข้าประเทศที่ตรงจุด ไม่ว่ากลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยและผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
ในการนี้ มีการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa) กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ ซึ่งจะได้ข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ ครม.มอบหมายให้ สภาพัฒน์หารือกับบีโอไอ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปวางแนวทาง ที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป