13 ปีวิบากกรรม “ทักษิณ” ยังไม่จบ?-เปิดครบ 8 คดีถูกกล่าวหาทุจริต
ย้อนปูม 8 คดีทุจริตฉาวกล่าวหา “ทักษิณ ชินวัตร” วิบากกรรมหลังเผ่นจากไทย 13 ปียังไม่จบ ศาลฎีกาฯสั่งจำคุก 6 คดี รวมโทษ 12 ปี ยกฟ้อง 2 คดี เหลือไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. 2 คดี
ยังคงเผชิญวิบากกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้จะลี้ภัยออกนอกประเทศไปตั้งแต่เมื่อ 13 ปีก่อน สำหรับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี “ผู้อื้อฉาว”
เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ (กรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) ดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 5 ราย (หนึ่งในนั้นมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ยุครัฐบาลนายทักษิณด้วย) ในการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500, A340-600 รวม 10 ลำ ระหว่างปี 2545-2547 วงเงินกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท เป็นชนวนเหตุทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องขาดทุนมหาศาล
นับเป็น “คดีที่ 8” เข้าไปแล้วที่ “ทักษิณ” ต้องเผชิญกับสารพัดคดีถูกกล่าวหาต่าง ๆ นานาหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ที่จะครบ 15 ปีในปีนี้ และกลุ่มผู้สนับสนุน “ทักษิณ” รวมถึงกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย เตรียมจัดกิจกรรมชุมนุมเพื่อรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว
กรุงเทพธุรกิจ ไล่เรียงทั้ง 8 คดีดังกล่าวให้ทราบดังนี้
คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 6 คดี จำคุก 4 คดี รวมโทษจำคุก 12 ปี
อ่านข่าว : มีชื่อ“สุริยะ”ด้วย! 5 ผู้ถูกกล่าวหาคดีซื้อเครื่องบิน-ป.ป.ช.สอบ“ทักษิณ”
1.คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตรว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551
โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ทำให้ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน
ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว
2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การสั่งการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเงินที่จ่ายเกินไปกว่ารายได้ของการจำหน่ายสลากจึงถือว่าก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่รัฐ
3.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนายทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
4.คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายทักษิณดำเนินการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท. ชื่อขณะนั้น) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือบริษัท ดีพีซี ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท. ชื่อขณะนั้น) โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้ง 2 บริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย
ยกฟ้อง 2 คดี
5.คดีกล่าวหาว่าอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI
คดีดังกล่าวศาลฎีกาฯได้ยกฟ้อง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิพากษายืนยกฟ้องตามเดิม
6.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร กว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต โดยศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือนายทักษิณ
อีก 2 คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่
7.คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ลอตสอง จำนวน 8 สัญญา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม รวมถึงชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวนายทักษิณ และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่ม ‘วังน้ำยม’ และน้องสาวของนายทักษิณด้วย
8.คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
โดยปรากฏชื่อของนายทักษิณ อดีตนายกฯ นายสุริยะ อดีต รมว.คมนาคม และนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม 3 นักการเมืองชื่อดังเป็นผู้ถูกกล่าวหาร่วมกับ นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ดี 2 คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทุกรายยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ส่วนบทสรุปจะจบลงอย่างไร ต้องรอติดตามกันอย่างใกล้ชิด!