จับสัญญาณ “8 ไทม์ไลน์” วัดใจ“ประยุทธ์” ไปต่อ-พอแค่นี้ ?
จังหวะการลงจากหลังเสือของ"บิ๊กตู่" ที่สุดแล้วอาจต้องขึ้นอยู่กับ "8ไทม์ไลน์" ซึ่งถือเป็นด่านวัดใจสำคัญหลังจากนี้
ภาพการระดม ส.ส.ลงพื้นที่ของบรรดาพรรคการเมืองในยามนี้ หนีไม่พ้นการจับตาไปที่ การเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ทว่าจากสัญญาณที่เกิดขึ้นแม้จะมีคำยืนยันจากฟากฝั่งพรรคการเมือง ทั้งกระแสยุบสภาที่ยังไม่เกิดขึ้นในเวลานี้ หรือกระแสรอยร้าวต่างๆ ที่ไม่มีผลทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงอาจจะต้องไปลุ้นกันช่วงจังหวะ “ไทม์ไลน์” สำคัญ
ไทม์ไลน์แรก ร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนมีการประกาศใช้ ยังไม่นับรวมการการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เข้าสู่การพิจารณาวาระแรกในสมัยประชุมหน้าเดือน พ.ย.
หากไม่มีอะไรสะดุด กระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นครบถ้วนทุกกระบวนความในเวลา 4 เดือนนับจากเปิดสมัยประชุม เท่ากับว่าในช่วงต้นปีหน้า ทั้งรัฐธรรมนูญนูญ และกฎหมายลูกจะมีผลบังคับใช้ เพื่อเปิดทางสู่การเลือกตั้ง
ไทม์ไลน์ที่ 2 คือการเข้าเทคโอเวอร์พลังประชารัฐ การตั้งพรรคใหม่รองรับการเลือกตั้งในอนาคตรวมถึงความสัมพันธ์ของพี่น้อง “3 ป.”ที่ยามนี้ถูกจับตาว่า อาจไม่ได้รักใคร่กลมเกลียวกันเหมือนดังแต่ก่อน
กลับกัน ยิ่งปรากฎภาพ “เกมวัดพลัง-เขย่าขาเก้าอี้” ระหว่าง 2 ขั้ว อันอาจส่งผลไปถึงการเขย่าใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับครม. รวมถึงการเปลี่ยนเกมการเมือง และการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ไทม์ไล์ที่ 3 การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของฝ่ายค้าน ซึ่งจะมีขึ้นหลังเปิดสมัยประชุมในเดือน พ.ย. รอบนี้ฝ่ายค้านจั่วหัวไว้ว่า เป็นการขยายแผลใหญ่รัฐบาลจากศึกซักฟอกรอบที่แล้ว
โดยเฉพาะในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ได้คะแนนโหวตรั้งบ๊วย มีเสียง “ไม่ไว้วางใจ”มากที่สุดจากบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้ง 6 คน
ฉะนั้น ศึกซักฟอกรอบนี้แม้จะไม่มีการลงมติ ทว่าอาจเป็นจังหวะสำคัญให้ฝ่ายค้านช่วงชิงเกมในการขยายแผล เพื่อลดทอนความเชื่อมั่นรัฐบาลประยุทธ์ไปในคราวเดียวกัน
ไทม์ไลน์ที่ 4 คือการออก พ.ร.ก.กู้เงิน ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติขยายเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% ต่อจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ช่วงโควิดและหลังโควิด
เมื่อเป็นเช่นนีี้ จะส่งผลให้รัฐบาลสามารถกู้เงิน นอกเหนือจากแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 ได้อีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท
ฉะนั้นในทางการเมืองแล้วประเมินได้ว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาจรอจังหวะในการออก พ.ร.ก.กู้เงินจำนวนนี้ ก่อนปูทางสู่การเมืองในอนาคต
ไทม์ไลน์ที่ 5 หากรัฐบาลประยุทธ์ ยังสามารถประคับประคอง หรือทอดเวลาไปถึงช่วงกลางปี 65 ยังมีอีกหนึ่งด่านวัดใจสำคัญ
นั่นคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้สามารถยื่นญัตติอภิปรายได้ 1 ครั้งต่อ 1 สมัยประชุม ซึ่งจะไปตรงกับไทม์ไลน์ในช่วง 22 พ.ค.-18 ก.ย.65
ไทม์ไลน์ที่ 6 คือการออก พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ซึ่งตามกระบวนการหากไม่มีอะไรผิดพลาด พ.ร.บ.งบประมาณจะมีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565
ซึ่งต้องจับตาเกมการเมือง การวัดพลังในการบล็อกเสียงโหวตเพื่อพยุงเสียงรัฐบาล เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจต้องรับผิดชอบด้วยการ“ลาออก” หรือ “ยุบสภา” เป็นได้
ไทม์ไลน์ที่ 7 สถานการณ์โควิด ที่ ณ เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องเร่งปิดเกมโควิด ก่อนเดินหน้าฟื้นวิกฤติเป็นโอกาส เพื่อปูทางสู่อนาคตการเมืองอันใกล้นี้
และไทม์ไลน์สุดท้าย คือ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะอยู่ครบเทอมไปจนถึงปี 66 ท่ามกลางมรสุมรอบด้านทั้งแรงกระเพื่อมภายใน และภายนอก ก่อนช่วงชิงความได้เปรียบปูทางสู่สนามการเมืองในอนาคต
ซึ่งบอกเลยว่า เส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน
จากนี้ต้องจับตา เมื่อสัญญาณ“ล้างไพ่”เริ่มทำงาน ไทม์ไลน์หลังจากนี้ อาจเป็นตัวชี้วัดทิศทางการเมืองในอนาคต!