สัญญาณ “สภาฯ” ล่ม คำเตือน “อำนาจ" อาจเปลี่ยนมือ
เหตุการณ์ องค์ประชุมไม่ครบ จนทำให้ การประชุมสภาฯ ต้องล่มบ่อยครั้ง ถือเป็นสัญญาณอันตราย ที่กระเทือนถึงความมั่นคงของ "รัฐบาล" หากเสนอร่างกฎหมายสำคัญ แล้ว "ส.ส.รัฐบาล" ไม่พร้อมใจลงมติ วันนั้นอำนาจในรัฐบาลอาจเปลี่ยนมือ
จากข่าวของทำเนียบรัฐบาล ต่อประเด็นคำพูดของ “อ.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ที่ระบุในวงประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อ 21 กันยายน ช่วงพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ว่า “ถ้า พ.ร.ก.นี้ไม่ผ่านการรับรองจากสภา รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมา”
อาจถือได้ว่า นี่คือสัญญาณเตือนมายังผู้ควบคุมเสียงในสภาฯ ว่า อย่างน้อย 270 เสียงข้างมากของฝั่งรัฐบาล ต้องขันน็อตให้แน่นกว่าเดิม
โดยเฉพาะเมื่อถึงวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล
ต้องยอมรับว่า ช่วงหลังของการประชุมสภาฯ นับตั้งแต่มีรอยร้าวภายใน “พรรคพลังประชารัฐ” มีผลสะเทือนมายังความมั่นคงของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกร้ฐมนตรี และรมว.กลาโหม” เมื่อมีเรื่องที่ต้อง “ฝากผี ฝากไข้” ไว้กับเสียงส.ส. ข้างมากในสภาฯ
สิ่งที่เห็นได้ชัดในระยะหลัง คือ “ประชุมล่ม” บ่อย โดยรอบเดือนกันยายน เกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง
ในสภาฯ 1 ครั้ง ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเสนอ และ รัฐสภา 2 ครั้ง เมื่อ 10 กันยายน ระหว่างพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ... วาระสอง และวันส่งท้ายก่อนปิดสมัยประชุม เมื่อ 17 กันยายน ระหว่างพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... วาระรับหลักการ
ทั้งที่เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐบาล และไม่เพียงประชุมสภาฯเท่านั้น ยังลามไปถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ที่ “ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา” ถึงขึ้นออกปากว่า “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
“ผู้ควบคุมเสียงฝั่งรัฐบาล” ได้ชี้แจงหลังองค์ประชุมรัฐสภาล่ม เมื่อ 17 กันยายน ว่า เป็นแนวทางของวิปที่ไม่ต้องการให้ ส.ส.เสียเวลากับการฟังอภิปราย ที่มีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อจำนวนมาก อีกทั้งวันพิจารณานั้น คือวันศุกร์ ส.ส.ย่อมต้องการเดินทางเพื่อไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่
แนวทางนี้ "วิปรัฐบาล” ถือปฏิบัติมาพักใหญ่ เพราะยอมรับว่าไม่สามารถคุมจำนวน การอภิปรายของฝ่ายค้านได้ ดังนั้นจึงให้สิทธิอภิปรายเต็มที่ ขณะเดียวกัน ไม่ต้องการให้ "ส.ส.เสียเวลางานพื้นที่" จึงกำหนดให้การลงมติในแต่ละเรื่อง เกิดขึ้นในการประชุมครั้งถัดไป
รอบนี้ แม้วิปรัฐบาลจะบอกว่า "ประชุมล่มฯ” เพราะเป็นไปตามแนวทางที่ตกลง ไม่ใช่ปัญหาการเมืองจากฝั่งแกนนำรัฐบาลที่ขัดแย้งกับ คนในพรรคแกนนำรัฐบาล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนคุมเกมในสภาฯ ขณะนี้ คือ “คนในพลังประชารัฐ” ไม่ใช่ “คนในทำเนียบรัฐบาล"
ดังนั้นหาก “รัฐบาล” ไม่ขันน็อต “ส.ส.” ปล่อยเกียร์ว่าง เห็นงานนอก สำคัญกว่า งานในสภาฯ สิ่งที่ “อ.วิษณุ” ย้ำเตือนในวงประชุมคณะรัฐมนตรี อาจเป็น เหตุที่ “รัฐบาล” ต้องไปก่อนครบเทอม
สำหรับเสียงในสภาฯ ที่ปัจจุบันมี 480 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.รัฐบาล 270 เสียง และ ส.ส.ฝ่ายค้าน 210 เสียง แต่หากตีค่าเฉลี่ย “ส.ส.พปชร.” และ “ส.ส.พรรคเล็ก” ที่แข็งขืน ต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ตามที่ “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประเมินว่ามีจำนวนที่เป็น ส.ส.ใต้สังกัด “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ” รวม 40 เสียง
หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่สามารถแผ่บารมี คุมเกม คุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ความพลาดท่าเสียทีตอนโหวตร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลย่อมเกิดขึ้นได้
เมื่อถึงเวลานั้นจริง อำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” อาจถูกเปลี่ยนมือ.