ทำความรู้จัก“น.ส.2”ต้องแจ้งทรัพย์สินหรือไม่?-ก่อน ป.ป.ช.สอบ“ครูแก้ว”
น.ส. 2 หรือที่ภาษาทางการเรียกว่า “ใบจอง” คือหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อเป็นการแสดงความยินยอมให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราว ซึ่งใบจองนี้จะออกให้แก่ราษฎรที่ทางราชการได้จัดที่ดินให้ทำกินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
“ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติมีมติจัดสรรให้กับประชาชนที่เป็นชาวนา ชาวไร่ตั้งแต่เมื่อปี 2518 เมื่อกระบวนการจัดสรรที่ดินเสร็จสิ้นจึงได้มอบให้กับกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการต่อ ขอยืนยันว่าที่ดินผืนดังกล่าวไม่ได้เป็นที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไม่ได้เป็นที่สงวนสำหรับราชการไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรมแต่ที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า”
“ดังนั้นทางราชการจึงสามารถนำมาจัดสรรหรือออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ราษฎรตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ซึ่งในปัจจุบัน (2518-2564) จัดสรรทั้งหมด จำนวน 1,492 แปลง แยกเป็น นส.3 ก. จำนวน 32 แปลง เป็นโฉนด จำนวน 30 แปลง คงเหลือเป็นใบจอง จำนวน 1,430 แปลง”
คือหลักใหญ่ใจความสำคัญที่ “ครูแก้ว” นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ชี้แจงกรณีคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่าถือครองที่ดินของรัฐ (น.ส.2) โดยมิชอบ โดยมีการระบุว่าถือครองไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งที่ไม่มีสิทธิในการถือครอง
ความคืบหน้าขณะนี้ในชั้น ป.ป.ช. พบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว โดยอาจจะต้องมีข้อมูลพิจารณาเพิ่มเติมว่า ข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่ คาดว่าเร็ว ๆ นี้ จะมีการสรุปสำนวนเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่าข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่ หากมีจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา และให้นายศุภชัยมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
พร้อมกับยก “กรณีตัวอย่าง” เทียบเคียงกับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่แจ้งถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 ในบัญชีทรัพย์สิน ต่อมามีการสืบสาวขยายแผลจนพบว่าเป็นที่ดินส่อได้มาโดยมิชอบ ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ปารีณา กระทำผิด “มาตรฐานจริยธรรม” อย่างร้ายแรง ส่งเรื่องศาลฎีกา และศาลฎีกาประทับรับฟ้อง โดยไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้ น.ส.ปารีณา ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไปแล้ว
หลายคนที่ไม่ใช่ “เกษตรกร” อาจไม่คุ้นหูกับที่ดินประเภท “น.ส.2” ว่าคือที่ดินอะไร?
กรุงเทพธุรกิจ นำข้อมูลจากกรมที่ดินมานำเสนอ ดังนี้
น.ส. 2 หรือที่ภาษาทางการเรียกว่า “ใบจอง” คือหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อเป็นการแสดงความยินยอมให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราว ซึ่งใบจองนี้จะออกให้แก่ราษฎรที่ทางราชการได้จัดที่ดินให้ทำกินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งทางราชการจะมีประกาศเปิดโอกาสให้จับจองเป็นคราว ๆ ในแต่ละท้องที่และผู้ต้องการจับจองควรคอยฟังข่าวของทางราชการ
ผู้มีใบจองจะต้องเริ่มทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบจองและจะต้องทำประโยชน์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ของที่ดินที่จัดให้ ที่ดินที่มีใบจองนี้จะโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก เมื่อทำประโยชน์ตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็มีสิทธินำใบจองนั้นมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3 ข) หรือโฉนดที่ดินได้แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินนั้นจะต้องตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
อธิบายแบบภาษาชาวบ้านคือ น.ส.2 เป็นต้นธารของที่ดินประเภท น.ส.3, น.ส.3 ก หรือ น.ส.3 ข หรือ “หนังสือรับรองการทำประโยชน์” นั่นเอง
การออกใบจองมีได้ 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 การจัดที่ดินของรัฐให้แก่ประชาชน เรียกว่า "การจัดที่ดินผืนใหญ่" ซึ่งเป็นการจัดที่ดินที่มีเนื้อที่ติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ไร่ตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
กรณีที่ 2 ราษฎรขอจับจองที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย หรือที่เรียกว่า "ที่ดินหัวไร่ปลายนา" เป็นกรณีที่ราษฎรขอจับจองที่ดินตามมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สภาพของที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย ได้แก่ ที่ดินของรัฐที่มีเนื้อที่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งอาจจะมีพื้นที่กระจัดกระจายไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน หรือที่ดินที่มีเนื้อที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน
กรณีที่ดินหัวไร่ปลายนา ได้แก่ ที่ดินที่อยู่ติดต่อกับที่ดินซึ่งมีการทำประโยชน์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะติดต่อกับที่ดินของผู้ขอเอง หรือติดต่อกับที่ดินของผู้อื่น เรียกว่าที่ดินหัวไร่ปลายนาทั้งสิ้น จะมีอยู่ทั่วไปแปลงละไม่กี่ไร่ ให้จัดให้เข้าทำประโยชน์ได้ไม่เกิน 50 ไร่ หากเกิน 50 ไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย แต่ต้องไม่เกิน 100 ไร่
ผู้มีใบจองจะต้องเริ่มทำประโยชน์ในที่ดินภายใน 6 เดือนนับแต่วันได้รับใบจอง ทั้งจะต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบจอง และจะต้องทำประโยชน์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ของที่ดินที่จัดให้ ที่ดินที่มีใบจองนี้ ถ้ายังไม่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จะโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม เมื่อทำประโยชน์ตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็มีสิทธินำใบจองนั้นมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3 ข) หรือโฉนดที่ดินได้ แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินนั้นจะต้องตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
แบบของใบจอง มี 2 แบบ คือ แบบ น.ส. 2 และ น.ส. 2 ก.
แบบ น.ส.2 ใช้ในการออกใบจองในท้องที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งประจำอำเภอตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528
แบบ น.ส.2 ก. ใช้ในการออกใบจองในท้องที่อื่นนอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้น
ประเด็นนี้ “ครูแก้ว” อ้างว่า ประเด็นเรื่องสิทธิ์การครอบครอง ขอเรียนว่าก่อนหน้านี้ครอบครัวของตนเป็นครอบครัวยากจนและได้มีโอกาสในการยื่นความจำนงเพื่อจับสลากขอเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว ยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างประชาชนที่จับสลากได้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แต่เดิมทำให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันไปมา
กระทั่งปี 2530 ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูใหญ่ที่บ้านท่าหนามแก้ว ตำบลพระทายตนได้ไปติดต่อขอเช่าสิทธิ์ในการครอบครองจากชาวบ้านที่ครอบครองอยู่แต่เดิม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดใดและยังไม่คิดที่จะทำการเมืองหรือลงสมัคร ส.ส. กระทั่งปี 2544 ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยแรก ตนยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสิทธิ์ในการครอบครองจึงยังไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินก่อนที่ภายหลังจะมีการหารือเรื่องดังกล่าวกับอดีตอธิบดีกรมที่ดินและฝ่ายกฎหมายถึงความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิ์ในการครอบครอง
ทั้งอธิบดีและฝ่ายกฎหมายของกรมที่ดินได้ยืนยันว่า ที่แปลงดังกล่าวไม่ใช่ที่ป่าสงวนไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมแต่เป็นที่ดินที่จัดสรรให้ชาวบ้านหากไม่เข้าทำประโยชน์ภายใน 3 ปีก็จะถือว่าสละสิทธิ์และถือว่าให้ที่ดินกลับไปเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเช่นเดิม ฉะนั้นหากใครครอบครองก็มีสิทธิ์ในการนำเจ้าหน้าที่สำรวจเพื่อออกโฉนดต่อไป
นายศุภชัย ระบุด้วยว่า เมื่อตนได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้เข้ามาชี้แจงในเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินซึ่งตนได้นำเรื่องนี้หารือกับปปช.ได้รับคำยืนยันว่าหากเป็นที่ดินที่ครอบครองมานานและทำประโยชน์กับที่ดินดังกล่าวหรือได้ประโยชน์กับทรัพย์สินตรงนี้ก็จำเป็นต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. หากไม่แจ้งจะถือว่ามีเจตนาปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ทำให้ตนต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วยความบริสุทธิ์ใจด้วยเจตนาบริสุทธิ์ว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินตรงนี้
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. มองว่า กรณีนักการเมืองแจ้งถือครองที่ดิน น.ส.2 ทำได้หรือไม่นั้น เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นสิทธิในการถือครอง ไม่ต้องแจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน คล้ายคลึงกับการถือครอง ภ.บ.ท.5 เพราะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ปัจจุบันมีบางรายแจ้งในบัญชีทรัพย์สินเข้ามาบ้าง ดังนั้นเมื่อแจ้งว่า ป.ป.ช. ต้องตรวจสอบ หากปรากฏกรณีว่าถือครองไม่ถูกต้อง เช่น กรณีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ แต่เป็นความผิดตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า ดังนั้นต้องดูเจตนาของนายศุภชัยว่า การแจ้งถือครองที่ดิน น.ส.2 ดังกล่าว เป็นอย่างไร ถือครองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดูพฤติการณ์เป็นหลัก หากมีมูลว่าถือครองไม่ถูกต้อง อาจถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงแบบกรณีของ น.ส.ปารีณา ซึ่งเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนของคดีอาญานั้น เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนดำเนินการไป เช่น กรณีการแผ้วถางป่า หรือรุกป่า
สำหรับนายศุภชัย แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 แจ้งมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 40,398,604.95 บาท หนี้สินทั้งสิ้น 10,389,457.18 บาท
อย่างไรก็ดีตามกฎหมาย-ระเบียบใหม่ของ ป.ป.ช. จะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้มีหน้าที่ยื่น เช่น นายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ฯลฯ บน “เว็บไซต์ ป.ป.ช.” แค่เพียง 180 วัน หรือราว 6 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นต้องเดินทางไปสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สิน โดยทำหนังสือขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ทำให้ ณ ขณะนี้ไม่สามารถสืบค้นได้ว่า ข้อมูลที่ดิน น.ส.2 ของ “ครูแก้ว” มีรายละเอียดอย่างไร ตั้งอยู่ที่ไหน และมูลค่าเท่าใด?
ทั้งหมดคือข้อมูลเกี่ยวกับ “น.ส.2” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน ทำให้นายศุภชัย ต้องรีบออกมาชี้แจงโดยด่วน ขณะที่ กมธ.ป.ป.ช. เตรียมยื่นเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบเพิ่มเติมอยู่ขณะนี้