"ไพบูลย์" ชี้ "นายกฯ" ชะลอทูลเกล้าฯ "ร่างรธน." ไม่ได้ แม้มีคำร้องถึงผู้ตรวจฯ

"ไพบูลย์" ชี้ "นายกฯ" ชะลอทูลเกล้าฯ "ร่างรธน." ไม่ได้ แม้มีคำร้องถึงผู้ตรวจฯ

"ไพบูลย์" ยืนยันร่างแก้รธน. ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ไม่มีประเด็นละเมิดสิทธิ์ประชาชน ชี้ช่องกฎหมาย "นายกฯ" ชะลอทูลเกล้าฯ ใน5 วันไม่ได้ แม้มีคนร้องถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน

           นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา กล่าวต่อกรณีที่มีคณะผู้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งนั้นกระทบต่อการใช้สิทธิประชาชน และเป็นการใช้สิทธิจากการแก้ไขบัตรเลือกตั้ง1 ใบ ให้เป็น 2 ใบ ว่า ส่วนตัวมองว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นเหตุระงับยับยั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนให้ นายกรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 5 วันหลังจากที่รับร่างมาจากประธานรัฐสภา ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าไม่ใช่นายกฯ ไม่ฟังเสียงประชาชน แต่หากนายกรัฐมนตรีไม่ทำตามรัฐธรรมนูญจะถือว่ากระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

           นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่าในมุมกฎหมายส่วนตัวมองว่าคำร้องของคณะบุคคลที่ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับหรือไม่รับพิจารณาได้ หากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ดำเนินการภายใน 60 วันคณะผู้ยื่นสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีเหตุยับยั้งขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการเช่นกัน

           เมื่อถามถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิฉัยในทำนองเดียวกันต่อการแก้รัฐธรรมนูญที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิประชาชน เรื่องพิจารณา ที่จง23/2564 วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ซึ่งศาลไม่รับคำร้อง ผู้ตรวจการสามารถเป็นบรรทัดฐานเพื่อวินิจฉัยได้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า อยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะพิจารณาคำร้องของคณะผู้ยื่นนั้นว่า เป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ แต่ตนยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งนั้นไม่ใช่การละเมิดสิทธิบุคคลใด และเป็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาภายใต้การประชุมของรัฐสภา ซึ่งยึดรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภาดำเนินการ ดังนั้นเรื่องดังกล่าวหากฝ่ายเกี่ยวข้องพิจารณาว่าไม่เข้าข่าย อาจยกคำร้องได้.