ผบ.ทอ.สยบศึก ทอ. ผลพวงยุค “แอร์บูล-มานัต”ชี้แค่เห็นต่าง ไร้ขัดแย้ง
ผบ.ทอ. คนใหม่ ปูทางกระชับมิตร ตท.21-28 ตีกอล์ฟร่วมกัน เผยแผนพัฒนา ทอ. ยังไม่ซื้ออาวุธ 1 ปี ด้วยเหตุผลงบประมาณ
5 ต.ค.2564 พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังแถลงนโยบายกองทัพอากาศ ว่า “ผมรู้สึกอบอุ่น ได้รับความปรารถนาดีจากสื่อ ตั้งแต่ก่อนรับหน้าที่และในขณะนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการลงข่าวถึงผมในทางที่ดี เช่น ภาพจูงมือคุณพ่อ กอดคุณแม่ เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์”
ทั้งนี้บุคคลสำคัญของผมคือคุณพ่อคุณแม่ ผมจึงที่เน้นเรื่องคุณภาพ จึงฝังใจผมมาตลอด สิ่งที่ผมวางนโยบายไว้จึงเน้นเรื่องคุณภาพ โดย 1 ปีจากนี้ จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีในทุกด้าน ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความเป็นธรรม ดูแลเอาใจใส่ ทำให้เขาภาคภูมิใจ แม้ยศจะต่างกัน แต่ความภาคภูมิใจนั้นเหมือนกัน
นอกจากนี้คือความรักใคร่ กลมเกลียว มีหัวจิตหัวใจเดินไปด้วยกัน นำพาไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน ผมมีเวลาเพียง 1 ปี จึงไม่ได้คิดทำโครงการใหญ่โต ดังนั้นพื้นฐานของผมคือความสุขของ ทอ.
เมื่อถามว่าสมัย พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. ยุคคุณพ่อเคยซื้อเอฟ 16 เราจะพัฒนา ทอ.ช่วงที่เรามีงบจำกัดอย่างไร พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า 4-5 ปีก่อน ขณะนั้นคุณพ่ออายุ 89-90 ปี เคยพูดกับผมว่า ทอ. น่าจะคิดมีเครื่องบินที่ดีขึ้น เช่น พวกเครื่องสเตลท์ เอฟ-35 โดยเป็นการเตรียมกำลังเพื่อ ประชาชน เพื่อประเทศ ไม่ใช่เพียงเพื่อ ทอ. แม้โดยเครื่องบินที่มีอยู่ขณะนี้จะทันสมัยในยุคนี้ แต่หากผ่านไปไม่กี่ปีก็ล้าสมัย จึงตัองคิดจัดซื้อที่ทันสมัยตั้งแต่วันนี้ แต่เกรงว่าเราเสนออะไรขึ้นไป และเมื่อเจอกับคนที่ไม่เข้าใจก็จะเกิดการต่อต้าน ก็จะรวนไปหมด ซึ่งตนก็เชื่อมั่นว่า ในยุคตนก็คือคิด แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่คนที่ก้าวเข้ามาต่อจากตน ที่จะมาดำเนินการต่อ ในยุคที่ประชาชนสนับสนุนและงบประมาณเพียงพอ เพื่อมียุทโธปกรณ์ที่ก้าวข้ามยุคสมัย
"เฉกเช่นที่คุณพ่อทำมาในอดีต เช่น การจัดซื้อเครื่อง F-16 เป็นยุคที่ประเทศเผชิญภัยคุกคาม โดยมีเครื่องบินเสนอตัวมา 4 แบบ เครื่องบินมิราจ ฝรั่งเศส , เครื่องบินทอร์นาโด , เอฟ 16 , เอฟ 20 ที่เป็น ซุปเปอร์ F-5 ซึ่งในยุคนั้น สหรัฐฯ นักวิชาการ ก็เชียร์ F-20 แต่สุดท้าย ทอ. โดยคณะกรรมการยุคคุณพ่อก็เลือก F-16 จึงเป็นที่วิจารณ์ไปทั่ว "
จากนั้นก็มีการเชิญนักวิชาการกับคุณพ่อมาพบเจอกันผ่านทีวี ซึ่งนักวิชาการขอให้ซื้อ F-20 แต่คุณพ่อกล่าวว่า ยอมรับสิ่งที่นักวิชาการและประชาชนให้ความเห็น เพราะเป็นความจริง F-20 เป็นเครื่องบินที่มีความทันสมัย สร้างจากบริษัทเครื่อง F-5 อุปกรณ์ใช้กันได้ เป็นบริษัทที่สหรัฐฯสนับสนุน แต่ ทอ. เป็นกองทัพขนาดเล็ก มีงบจำกัด เราต้องใช้งบให้คุ้มค่า ถ้าท่านเป็นผม ท่าจะเลือกใช้งบอันจำกัดนี้ สิ่งที่บอกว่าดีในกระดาษ หรือจะซื้อเครื่องที่พิสูจน์ในศึกสงครามว่าดีจริง” ซึ่งคำตอบกระจ่างแจ้ง ในการเลือก ที่ไม่เสี่ยงเลือกที่เขาบอกว่าดี เพราะ F-20 ผลิตมา 4 เครื่อง แต่ตกไป 2 ลำ ในการแสดงแอร์โชว์ หากตัดสินใจผิดในวันนั้น ทอ. คงไม่มีเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพในวันนี้
.
เมื่อถามว่าจะมีการการตั้งคณะกรรมการจัดหายุทโธปกรณ์ขึ้นมาหรือไม่ พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า จะรับไว้พิจารณา แต่จะให้ เสธ.ทอ. และ ผบ.คปอ. เข้าไปดู เพื่อก้าวข้ามเครื่องบินธรรมดาไปยังเครื่องที่แอ๊ดวานซ์ขึ้น ต้องสร้างความเข้าใจ ซึ่ง ทอ. แพ้ไม่ได้ ในด้านกำลังทางอากาศ เพราะหากเครื่องบินข้าศึกเสียงคำรามดังกว่า ทหารไม่ว่าหน่วยใด ก็จะแหลกลาญ ดังนั้นเครื่องบินที่มีประโยชน์ก็คือ เครื่องบินคุณภาพ แต่จะต้องมีความเข้าใจร่วมกัน เหมือนอย่างเช่นวัคซีนที่ตอนแรกเราก็ควบคุมไม่ได้ เพราะเรา ไม่ได้เตรียมไว้เพียงพอ เมื่อจัดหามาก็ฉีดไม่ทันกับสถานการณ์ เปรียบเหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “สงครามไม่มีวันไม่เกิดขึ้น” เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็มีครั้งที่ 2 มีสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม จึงอย่านิ่งนอนใจ เพราะสงครามเกิดขึ้นได้ ตอนนี้ก็ฮึ่มๆกันอยู่ หากประชาชนเข้าใจ รักและเชื่อมั่น ทอ. ทุกอย่างก็จะปลอดโปร่งและจะเกิดขึ้นได้ เราซื้อของแต่ละทีใช้ได้นาน ดูแลได้เหมือนลูก เช่น C-130
เมื่อถามว่าจะสานต่อเปเปอร์ของอดีต ผบ.ทอ. หรือไม่ พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า ผมไม่รู้ถึงความขัดแย้งอะไรต่างๆ ผมรู้สึกว่า ทอ. รักใคร่สามัคคีกัน แต่แนวทาง การสร้างความเจริญกับ ทอ. แตกต่างไปบ้าง ไม่ว่าแนวทางใด ก็มีชีวิตจิตใจทำให้ ทอ. เจริญเกิดขึ้นได้ และเป็นเรื่องชิลๆ
เมื่อถามถึงแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อการพัฒนา หรือโครงการพีแอนด์ดี นั้น พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง เทคโนโลยีบางอย่างบริษัทในประเทศอาจจะไม่มี จึงอยากที่ยกตัวอย่าง ต้องดูสิ่งที่เราเห็นจริงแล้ว เช่น F-16 กับ F-20 ถ้าเรามีเงินน้อย ก็จะไปเสี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องเลือกของที่ดีที่สุด
เมื่อถามถึงการตั้งคณะทำงานสร้างความกลมเกลียวระหว่าง 8 รุ่น อาสุโส ตท.21-28 ด้วยการกีฬา เช่น การตีกอล์ฟ พล.อ.อ.นภาเดช กล่าวว่า พวกหนุ่มๆเก่งกว่าเรา จึงคัดเลือกพวกเรานายพล 8 รุ่น เกิดในยุคสมัยเดียวกัน พูดจากันรู้เรื่อง เวลาแซว เช่น แต่งตัวมะ หรือมะกัน แปลว่าเท่ห์ หากเด็กๆมา เราปล่อยมุขไป ก็ไม่เข้าใจ จึงอาศัยคนแวดวงเดียวกัน หากกิจกรรมนี้ติด ก็เป็นหน้าที่ ผบ.ทอ. คนต่อไปสานต่อ หากไม่ติดก็จบไป เป็นความทรงจำที่ดีของผม
.
เมื่อถามถึงการแสดงออกการเมือง พล.อ.อ.นภาเดช มองว่า เรื่องการเมืองคือการดำเนินการใดๆมาเพื่อการบริหาร ซึ่งเราไม่มีเรื่องเหล่านั้นในจิตใจ เพราะความคิดเราอยู่ใน ทอ. เท่านั้น ไม่ได้คิดไปไกล ตนไม่เคยเข้าสภาไปเลย และส่วนการเป็นสมาชิก ส.ว. โดยตำแหน่ง ถ้า ผบ.เหล่าทัพ ไม่รับเงินเดือน ตนก็ไม่รับเช่นกัน