“โครงการผันเงิน” ความพยายามทานกระแสฝ่ายซ้ายของรัฐบาล “คึกฤทธิ์”
ย้อนทำความรู้จัก “โครงการผันเงิน” นโยบายของรัฐบาล “คึกฤทธิ์ ปราโมช” เพื่อทานกระแสเรียกร้องของมวลชน ทว่าไปไม่ถึงเป้าหมาย จนเกิดเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519”
การย้อนรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา’19 หวนกลับมาอีกครั้งในปี 2564 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ วานนี้ โดยเหตุการณ์นี้ผ่านมาร่วม 45 ปีแล้ว ทุกครั้งที่การรำลึกเวียนมาถึง ก็จะมีการเปิดเผยข้อมูลประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของเหตุการณ์ดังกล่าวในทุกๆ ปี
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางแง่มุมที่คนรุ่นหลังยังสามารถศึกษาเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ เช่นหนึ่งเงื่อนประเด็นน่าสนใจที่ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปทำความรู้จักกับ “โครงการผันเงิน” ที่ตั้งต้นโดยรัฐบาล “คึกฤทธิ์ ปราโมช” บนเป้าประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพในชนบท ต่อสู้กับ “สงครามความยากจนของราษฎร” ต่อรองกับกระแส “ฝ่ายซ้าย” ที่เบ่งบานในสังคมไทยขณะนั้น ซึ่งเป็นห้วงเวลาก่อนจะเกิดเหตุการณ์ “6 ตุลา”
“โครงการผันเงิน” คืออะไร?
“โครงการผันเงิน” คือ โครงการจัดสรรเงินเพื่อพัฒนาชนบท ผ่านการจัดสรรงบประมาณ หรือที่เรียกว่า “การผันงบประมาณ” ภายใต้รัฐบาล “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” (14 มี.ค.18 - 12 ม.ค.19)
โครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก คือ โครงการผันเงิน มูลค่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเร่งรัดให้ทุกตำบลจัดทำโครงการพัฒนาตามหลักเกณฑ์ และลักษณะที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ ได้แก่ โครงการที่ต้องใช้เงินให้เสร็จสิ้นภายในช่วง เดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม ปี 2518 ไม่ผูกพันกับงบประมาณปีถัดไป และต้องเป็นโครงการที่ใช้แรงงานได้ทั้งหมด หรือเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนใหญ่ที่ว่านั้นต้องเป็นแรงงานท้องถิ่น และไม่ซ้ำกับงานในโครงการที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้า
ระยะที่สอง คือ โครงการผันเงิน มูลค่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นส่วนต่อขยายจากโครงการผันเงินในระยะแรก ไม่ได้มีดำเนินการ เนื่องจากความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล จนนำไปสู่การประกาศยุบสภาในที่สุด
“โครงการผันเงิน” มีเพื่ออะไร ?
นักวิชาการ เกริกเกรียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ได้วิเคราะห์ไว้เมื่อปี 2518 ว่าโครงการผันเงิน มีจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจเป็นประการแรก คือ การเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน การสร้างงานให้กับประชาชนในฤดูแล้ง และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองรวมอยู่ด้วย คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
นอกจากนั้น ยังมีการวิเคราะห์ถึงจุดมุ่งหมายที่แฝงเร้น อย่างการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองในชนบท และการหาเสียงของพรรครัฐบาล เพื่อสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้นำรัฐบาลในเวลานั้น การนำการพัฒนาเข้าไปยังชนบทก็เพื่อยับยั้งการแผ่อิทธิพลของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์”
การ “ลดความอยากจน” ของชาวชนบท ถือเป็นการป้องกันไม่ให้มีสาเหตุที่จะนำไปสู่การสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ เสริมสร้างความมั่นคงของประเทศชาติ เนื่องจากคอมมิวนิสต์ถูกนับว่าเป็นภัยของชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้น ความยากจนของผู้คนจึงเป็นกุญแจสำคัญหนึ่งในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ จนถูกยกให้เป็น “สงครามความยากจนของราษฎร”
นอกจากนั้น โครงการผันเงิน ยังเป็นการแสดงถึงการนำสังคมสู่การเป็น “ประชาธิปไตย” ผ่านการ “กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ลดทอนความรุนแรงจากข้อเรียกร้องที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคน และรัฐบาลในชุดนี้ยังประนีประนอมกับคนกลุ่มต่างๆ เพื่อหวังสร้าง “การเมืองทางสายกลาง” หลีกเลี่ยงการนำสังคมไทยสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสุดขั้วตามกระแส “สงครามเย็น”
ผลการดำเนินงาน “โครงการผันเงิน”
เนื่องจากระยะเวลาในการทำงานของรับบาลชุดนี้นั้นค่อนข้างสั้น หรือเพียงประมาณ 10 เดือน จึงมีแค่ผลการดำเนินงานของโครงการในระยะแรกเท่านั้น
จากข้อมูลในปี 2518 พบว่า มีการดำเนินงานโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น คลอง ถนน และสะพาน เป็นต้น จำนวน 41,267 โครงการ ครอบคลุมสภาตำบล 5,023 แห่ง รวมเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,421.97 ล้านบาท ประชาชนนับสิบล้านมีงานและรายได้ และจากการประเมินในหลังจากนั้น พบว่า ได้รับความพึงพอใจจากประชาชนถึงร้อยละ 96
อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่า โครงการนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีข้อบกพร่องในการออกแบบโครงการและการเบิกจ่าย ยกตัวอย่าง การออกแบบให้แต่ละตำบลได้รับเงินในจำนวนเท่ากัน โดยไม่ได้คำนึงถึงขนาดและประชากรในตำบลนั้นๆ เป็นต้น
ผลทางเศรษฐกิจก็ออกมาในรูปแบบที่ยังไม่น่าพึงพอใจ เกิดการสูญเปล่าจากการใช้เงิน เนื่องจากเงินที่เบิกจ่ายไปมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมที่ต่ำมาก การเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่ได้มากพอที่จะนำไปเป็นทุน ทำให้เงินที่เพิ่มขึ้นจึงกลายเป็นส่วนของการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้โครงการดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับ “การหว่านเงิน”
นอกจากนั้น ผลทางเศรษฐกิจดังที่กล่าวไปยังเพิ่มผลประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ เพิ่มอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับเหล่านายทุน หรือเจ้าของกิจการ ซึ่งไม่อาจพัฒนาฐานะและความเป็นอยู่ของคนในชนบทได้อย่างแท้จริง ทำให้โครงการดังกล่าวทำได้เพียงซื้อเวลาให้รัฐบาล และชะลอความร้อนแรงในการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น
ท้ายที่สุด “โครงการผันเงิน” จึงเป็นเพียงหลักฐานความพยายามของรัฐบาลในการต่อสู้กับกระแสมหามวลชนในช่วงที่มีการตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุดยุคหนึ่ง แม้ว่าโครงการนี้จะสามารถตอบจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจและการเมืองได้บ้าง แต่ก็ไม่อาจตอบสนองจุดมุ่งหมายพื้นฐานของรัฐบาลที่ต้องการประนีประนอม มิหนำซ้ำการโอนอ่อนของรัฐบาลยังสร้างภาพชัยชนะของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายให้ “ฝ่ายขวา” อีกด้วย
บทสรุป คือ ความประนีประนอมของรัฐบาลก็ไม่สามารถใช้ต่อรองกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ ซึ่งอาจไม่ใช่แค่การทัดทานความต้องการของฝ่ายซ้าย แต่ยังหมายถึงการไม่สามารถทัดทานความกลัวของฝ่ายขวา ที่เกิดขึ้นจากการกระแสการเมืองสุดขั้วในสังคมโลก ทำให้การเมืองทางสายกลางไม่อาจดำรงอยู่ได้ จนนำไปสู่เหตุการณ์ “6 ตุลา” ในที่สุด
อ้างอิง
ตำนาน "เงินผัน" ประชานิยมสุดคลาสสิก - คมชัดลึก
วิเคราะห์โครงการผันเงิน : ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง โดย เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม - นิตยา พีรนนท์
ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย - คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร
"หม่อมคึกฤทธิ์" ที่มาของ "พรรคแสป" กับสโลแกนเราทำได้ และเงินผัน - The People