เจาะอีสานรอ "เลือกตั้ง" ศึกในพลังประชารัฐ จับตา "ประยุทธ์" เลือกขุนพล?
นายกฯลุยลงพื้นที่ เจาะอีสานรอ "เลือกตั้ง" ศึกในพลังประชารัฐ จับตา "ประยุทธ์" เลือกขุนพลข้างกาย ท่ามกลางการเมืองกลุ่มก๊วนในพรรค
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ วันศุกร์ที่ 15 ต.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง
ในมิติการเมือง อุบลราชธานี มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 2 คน คือ สุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.เขต 6 (อ.เขมราฐ)
ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ภาคอีสาน จึงเลือก จ.ชัยภูมิ และ จ.อุบลราชธานี คำถามนี้ ตอบไม่ยาก เนื่องจาก ส.ส.พลังประชารัฐ 2 จังหวัดดังกล่าว สังกัดกลุ่มสามมิตร
อ่านข่าว : เปิดตัว "ดร.ยุ้ย" ชัชชาติ ดึงเสริมทัพร่วมทีมนโยบาย ลุยเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ทำนองเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 เพราะเป็นที่มั่นการเมืองของ วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานวิปรัฐบาล
วันนั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ระดม ส.ส.ภาคเหนือ และภาคกลาง ไปต้อนรับ พล.อ.ประวิตร มากกว่า 20 คน
จากผลการเลือกตั้งทั่วไป 2562 พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. จากภาคอีสานน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทย แถมรองจากพรรคภูมิใจไทยอีกต่างหาก
ย้อนไปดูการเลือกตั้งทั่วไป 2554 พรรคเพื่อไทยกวาด ส.ส. ภาคอีสานไปมากถึง 104 ที่นั่ง จาก 126 ที่นั่ง และปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. ลดลงเหลือ 84 ที่นั่ง จาก 116 คน แต่ก็ยังเป็นแชมป์ ส่วนภูมิใจไทย ได้ ส.ส.16 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐได้ 11 ที่นั่ง (ไม่นับรวมเลือกตั้งซ่อมได้มา 1 คน)
'อีสานเบี้ยหัวแตก'
การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสาน โดยมี ภิรมย์ พลวิเศษ อดีต ส.ส.นครราชสีมา (เสียชีวิตแล้ว) เป็นมือทำงานในพื้นที่ในนามกลุ่มสามมิตร
แต่ความเป็นจริง ผู้สมัคร ส.ส.พลังประชารัฐ 20 จังหวัดภาคอีสาน ได้รับการดูแลจากกลุ่มสามมิตร, วิรัช รัตนเศรษฐ, เอกราช ช่างเหลา, สุพล ฟองงาม ,สุชาติ ตันเจริญ และสุรพร ดนัยตั้งตระกูล
ผลเลือกตั้งไม่ได้ตามเป้าหมาย อดีต ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากสายกลุ่มสามมิตร สอบตก ขณะที่กลุ่มโคราชของวิรัช รัตนเศรษฐ ประสบความสำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงแตะมือกับ วิรัช รัตนเศรษฐ พยายามดัน เอกราช ช่างเหลา เป็นแม่ทัพภาคอีสานในสมัยหน้า
ปัจจุบัน ส.ส.พลังประชารัฐ ภาคอีสาน มี 15 คน แยกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน และ ส.ส.เขต 12 คน (รวมเลือกตั้งซ่อมได้มา 1 คน) จำแนกตามซุ้มได้ดังนี้
กลุ่มธรรมนัส ได้แก่ เอกราช ช่างเหลา , วัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต 2 , สมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 และณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ เขต 2
กลุ่มนครราชสีมา มี วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้นำ พร้อม ส.ส.นครราชสีมา 6 คน ได้แก่ ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ,อธิรัฐ รัตนเศรษฐ, ทัศนียา รัตนเศรษฐ ,ทัศนาพร เกษเมธีการุณ , เกษม ศุภรานนท์ และสมศักดิ์ พันธ์เกษม
กลุ่มสามมิตร ได้แก่ เชิงชาย ชาลีรินทร์ ส.ส.ชัยภูมิ เขต 2 , สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ เขต 3 และธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี เขต 6
ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ เป็นเครือญาติของสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีต ส.ส.อุบลฯ และเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขนส่ง การเกษตร และพลังงาน ในนาม ส.เขมราฐ
กลุ่มอุบลฯ มี สุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นแกนนำ ซึ่งกลุ่มนี้ จะเป็นพันธมิตรกับสิทธิชัย โควสุรัตน์ และ อมร นิลเปรม ในการเมืองท้องถิ่น แต่ในพลังประชารัฐ ธรรมนัสพยายามดึงกลุ่มสุพลไปอยู่ในซุ้ม
หากพิจารณาจากจำนวน ส.ส.ในซุ้ม ดูเหมือนว่า กลุ่มธรรมนัส-วิรัช จะได้เปรียบ แต่พื้นที่อีสานกว้างใหญ่ มี ส.ส.มากที่สุด การสยายปีกของธรรมนัส ผ่านกลุ่มเพื่อนเอกราช น่าจะมีปัญหาเพราะผลงานเลือกตั้งปี 2562 เอกราชพาลูกชายเข้าสภาฯ ได้คนเดียว
'สามมิตร-สุชาติ'
จริงๆแล้ว ผู้ที่มีบทบาทในสนามเลือกตั้งภาคอีสานของพรรคพลังประชารัฐอีกคนหนึ่งคือ สุชาติ ตันเจริญ ประมุขบ้านริมน้ำ ที่อาศัยเครือข่าย อบจ.อีสาน สนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. โซนอีสานเหนือ และอีสานใต้ตอนบน แต่โชคร้าย ผู้สมัคร ส.ส.เครือข่ายสุชาติ สอบตกหมด
แม่ทัพเลือกตั้งท้องถิ่น ประกอบด้วย ชัยมงคล ไชยรบ อดีตนายก อบจ.สกลนคร, สมชอบ นิติพจน์ อดีตนายก อบจ.นครพนม, ยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย, ศราวุธ สันตินันตรักษ์ อดีตนายก อบจ.หนองบัวลำภู ,นิพนธ์ คนขยัน อดีตนายก อบจ.บึงกาฬ, มลัยรัก ทองผา อดีตนายก อบจ.มุกดาหาร และสถิรพร นาคสุข อดีตนายก อบจ.ยโสธร
บรรดานักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับสุชาติ ตันเจริญ และในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ต้องรอดูว่า อดีตผู้สมัคร ส.ส. สายบ้านริมน้ำ ในภาคอีสาน จะเลือกหนทางเดินอย่างไร
ส่วนกลุ่มสามมิตร ที่รวบรวมอดีต ส.ส.อีสานไว้จำนวนหนึ่ง ก็พ่ายแพ้แก่กระแสทักษิณแม้แต่ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข และทีมงานที่เมืองเลย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสามมิตร มี ส.ส.อีสานในซุ้ม 3 คน จะสามารถต่อยอดได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับแกนนำหลักอย่างสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมศักดิ์ เทพสุทิน จะเอาจริงแค่ไหน
ด้านสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีอดีต ส.ส.อุบลฯ อยู่ในกลุ่มไม่ต่ำกว่า 5-6 คน ก็ยังซุ้มอีสานที่น่าจับตา โดยเฉพาะสุทธิชัย จรูญเนตร อดีต ส.ส.ที่พ่ายฉิวเฉียด วันนี้ สุทธิชัย มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีศึกษาธิการ (ตรีนุช เทียนทอง)
ที่ไม่ควรมองข้าม การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ,สิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีต ส.ส.อุบลฯ และ อมร นิลเปรม ส.ว. สนับสนุน อดุลย์ นิลเปรม และธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ลงสนามในสีเสื้อพลังประชารัฐ อดุลย์สอบตก แต่ธนะสิทธิ์สอบได้
ว่ากันว่า อมร นิลเปรม ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ในโควต้าบิ๊กตู่ จึงไม่น่าแปลกใจที่นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ จ.อุบลฯ อยู่หลายครั้ง
เมื่อต่อจิ๊กซอว์กลุ่มการเมืองในภาคอีสานของพลังประชารัฐ จะพบว่าไม่ได้มีแต่กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า , วิรัช รัตนเศรษฐ และเอกราช ช่างเหลา หากยังมีขุนพลอีสานอีกหลายซุ้ม
การเลือกไปลงพื้นที่ จ.อุบลฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะโฟกัสที่เครือข่าย พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์, สิทธิชัย โควสุรัตน์, อมร นิลเปรม และสุพล ฟองงาม เพราะคนเหล่านี้มีศักยภาพในการทำงานพื้นที่
หากวันข้างหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จะสร้างขุมกำลังใหม่ในภาคอีสาน คงต้องอาศัยคอนเนกชั่นของกลุ่มสามมิตร และสุชาติ ตันเจริญ