รัฐบาลเปิด 6 แนวทางพัฒนาเร่งด่วน รองรับการเปิดบริการรถไฟฟ้าจีน-ลาว ธ.ค.นี้
รัฐบาลเปิด 6 แนวทางพัฒนาเร่งด่วน รองรับการเปิดบริการรถไฟฟ้าจีน-ลาว เดือนธันวาคม 2564 เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการไทยกระจายสินค้าสอดรับส่งออกชายแดน และข้ามพรมแดนโตต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 17 ต.ค.64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่จะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 64 นี้
โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) รายงานว่า ได้กำหนดแนวทางสำหรับการดำเนินการในระยะเร่งด่วนและระยะยาวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งและการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างจีน-ลาว-ไทย พร้อมรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอีกมาก อีกทั้งจะต่อยอดโครงการด้านอื่นๆ ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค
ทั้งนี้ กรอบแนวทางการพัฒนาในระยะเร่งด่วนที่ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2564 ได้แก่
1) การบริหารจัดการการใช้บริการสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ร่วมกับการบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟ โดยเพิ่มความถี่การเดินรถไฟและใช้หัวลาก 15 ตันต่อเพลา รวมทั้งได้จัดเวลาการเดินรถไฟใหม่ ให้มีความเหมาะสมและลดความแออัด
2) การจัดเตรียมความพร้อมในด้านกระบวนการและพิธีการศุลกากร ทั้งในด้านอัตรากำลังและอุปกรณ์ต่าง ๆ จัดซื้อระบบตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเอ็กซเรย์แบบเคลื่อนที่ (Mobile X-Ray System) การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ อนุมัติกรมรองรับพิธีการทางรถไฟทุกรูปแบบ
3) การพัฒนาบริเวณพื้นที่หนองสองห้อง เป็นจุดพักคอยของรถบรรทุกสินค้าขาออกบนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่
4) การพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟหนองคายให้เป็นพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าขาเข้าและปรับพื้นที่ เพื่อตั้งเป็นโรงพักสินค้า เพื่อจัดเก็บตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรในระยะเร่งด่วน
5) การผ่อนผันการใช้ช่องทางเข้าในราชอาณาจักร เฉพาะการขนส่งสินค้า ณ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 และช่องทางจุดผ่านแดนถาวรสถานีรถไฟหนองคาย
6) การขยายพื้นที่ในการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมือง จากการดำเนินการนี้ จะสามารถรองรับปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น 354ตู้/วัน มีขีดความสามารถรองรับรถบันทุกหมุนเวียนสินค้าเข้า-ออกดำเนินพิธีการศุลกากร 650 คัน/วัน การตรวจลงตราได้ 3,600 คน/วัน
สำหรับการดำเนินการระยะยาว จะประกอบด้วย การเร่งเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ จีน-ลาว-ไทย ให้สมบูรณ์ การก่อสร้างสะพานแห่งใหม่สำหรับการขนส่งระบบราง การพัฒนาศูนย์ขนถ่ายสินค้านาทา จ.หนองคาย การเตรียมพร้อมผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น
“นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันการเจรจาสิทธิประโยชน์และมาตรการการค้าระหว่างจีน ลาว ไทย ขณะเดียวกันก็เร่งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในการส่งออกสินค้าไปจีนและลาวเพิ่มมากขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค และโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรของไทย
เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทยเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งมูลค่าการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนใน 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2564) สูงถึง 682,184 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 38.03% เฉพาะมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนสปป.ลาว เพิ่มขึ้นถึง 23.93%” นางสาวรัชดา ฯ กล่าว