เลาะชายแดน 846 กม.ตะวันตก สกัด "โควิด" นำเข้า 4 จังหวัด
“กองกำลังสุรสีห์”เลาะชายแดนตะวันตก 846 กม.รับเปิดประเทศ ตรวจจุดเสี่ยง“โควิด”นำเข้า แรงงานต่างด้าวประชิด 4 จังหวัด ออเดอร์เพิ่ม-ค่าหัวพุ่ง
“กองกำลังสุรสีห์” ต้องปฏิบัติภารกิจอย่างหนัก เพื่อสกัดกั้นการลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ด้วยการลาดตระเวนทั้งทางบก ทางน้ำในพื้นที่ตะวันตกระยะทาง 846 กิโลเมตร ตลอด 24 ชั่วโมง หลังพบแรงงานต่างด้าวจ่อประชิดชายแดน 4 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
โดย 4 จังหวัด มีช่องทางเข้าออกที่สำคัญ 95 เส้นทาง มีจุดผ่านแดนสำคัญ 4 แห่ง คือ 1.ช่องทางพระเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี มีสถานะเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้า และจุดผ่านแดนชั่วคราวการท่องเที่ยว 2.ช่องทางหินกอง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นจุดผ่านแดนชั่วคราวนำเข้าก๊าซธรรมชาติ 3.ช่องทางพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นจุดผ่านแดนถาวร 4.ช่องทางสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจุดผ่อนปรนพิเศษ
หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 นี้ ส่งผลให้ “ออร์เดอร์”แรงงานภายในประเทศพุ่งสูง ราคาหัวละ 15,000-20,000 บาท สอดคล้องกับรายงานด้านการข่าว พบความเคลื่อนไหวของขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญ
ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน “กองกำลังสุรสีห์” สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 321 ครั้ง จำนวน 2,710 คน ผู้นำพา 135 คน ส่งดำเนินคดี 83 คดี ส่วนใหญ่เดินทางมาจากพื้นที่ตอนในของ “เมียนมา” แต่หลังไทยนโยบายเปิดประเทศ ทำให้ 14 วันที่ผ่านมาจับกุมแรงงานต่างด้าวได้ 400 คนใน จ.กาญจนบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์
จุดที่พบการลักลอบมากที่สุดคือ อำเภอสังขละบุรี ช่องทางธรรมชาติมีพื้นที่เสี่ยง 6 แห่ง อำเภอไทรโยค 2 แห่ง อำเภอเมือง 3 แห่ง โดยใช้วิธีการเดินทางเข้ามาพักคอยในพื้นที่ชายแดนฝั่งประเทศเมียนมา จากนั้นลักลอบเข้าฝั่งไทย ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ตอนในต่อไป สำหรับเส้นทางใช้ลำเลียงมาโดยไม่ถูกตรวจพบ โดยใช้เส้นทางหลักคืออ้อมผ่านจุดตรวจความมั่นคง
“กองกำลังสุรสีห์” ได้ปรับยุทธวิธี 3 หน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.)เพื่อรองรับแรงงานต่างด้าวที่หนีพิษเศรษฐกิจจาก “โควิด-19”และการเมืองภายในประเทศ เตรียมทะลักเข้าชายแดนทั้ง 4 จังหวัด ด้วยการประกอบกำลัง 3 หน่วยรบ 1 กรมทหารราบ และหน่วยควบคุมทางยุทธการ มีการวางกำลังตามแนวชายแดนตรงข้ามของกองกำลังประเทศเมียนมา 46 ฐานปฏิบัติการ
โดย“ฉก.ลาดหญ้า” จัดกำลังจากกรมทหารราบที่ 9 รับผิดชอบ จ.กาญจนบุรี “ฉก.ทัพพระยาเสือ” จัดกำลังจากกรมทหารราบที่ 19 รับผิดชอบ จ.ราชบุรี และเพชรบุรี “ฉก.จงอางศึก” จัดกำลังจากกรมทหารราบที่ 29 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยวางรูปแบบสกัดกั้น ดังต่อไปนี้
“พื้นที่เฝ้าระวัง” ก่อนถึงแนวชายแดน ใช้กลไกพูดคุยผ่านหน่วยประสานงานในพื้นที่ชุดควบคุมที่ 53 สร้างการรับรู้ การบังคับใช้กฎหมายของไทยในการลักลอบเข้าเมือง และขอความร่วมมือให้เข้าตามช่องทางที่ถูกต้อง รวมถึงใช้กลไกหมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานตามแนวชายแดนประสานข้อมูลกลุ่มขบวนการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ประสานปฏิบัติกับหน่วยประสานงานประจำพื้นที่ จัดพื้นที่สังเกตสถานการณ์ฝั่งเมียนมา 14 แห่ง ใช้กลไกของจังหวัด และกลไกส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทยเมียนมา เป็นช่องทางในการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
แนวที่ 1 แนวชายแดน หรือพื้นที่ต้นน้ำ มีการใช้กำลังของหน่วยเฉพาะกิจ 3 หน่วย ตั้งจุดตรวจจุดสกัดประจำที่ และลาดตระเวนเส้นทางในพื้นที่รับผิดชอบ เสริมกำลังด้วยการจัดกำลังจากกองร้อยเคลื่อนที่เร็ว กองกำลังสุรสีห์ และกองกำลังชายแดน ตั้งจุดตรวจจุดสกัดไม่ประจำที่ ลาดตระเวนจรยุทธ ซุ่มตรวจตามสถานการณ์ด้านการข่าว นอกจากนั้น ให้แจ้งเบาะแส และการรายงานข่าวสารชุดปฏิบัติการพลเรือน ปฏิบัติงานร่วมกับอาสาสมัครพลเรือน ตามโครงการจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน
แนวที่ 2 พื้นที่ถัดจากแนวชายแดน หรือพื้นที่กลางน้ำ ได้ร่วมกับฝ่ายปกครองตรวจสอบระบบประชากรหมู่บ้านตามแนวชายแดน ปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายที่เป็นพื้นที่พักรอ ร่วมกับส่วนราชการเครือข่ายภาคประชาชน ผู้นำหมู่บ้านตั้งจุดตรวจจุดสกัด
แนวที่ 3 พื้นที่ตอนใน หรือพื้นที่ปลายน้ำ ได้มีการจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ นำมาซักถามประวัติผู้กระทำผิด และนำข้อมูลที่ได้แจ้ง กอ.รมน.จังหวัด ที่เป็นปลายทางของแรงงานผิดกฎหมาย เช่น สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี และจังหวัดอื่นๆ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
ในขณะที่ พล.ต.บรรยง ทองน่วม ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 (ผบ.พล.ร.9) เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้พิพากษา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เพื่อดำเนินการต่อกลุ่มขบวนการนำพาแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยยกเลิกการให้สถานะบัตรสีที่จะนำไปสู่การออกเป็นบัตรประชาชนกับบุคคลนำพาต่อไป
นอกจากนี้ “กองกำลังสุรสีห์”ยังปฏิบัติตามนโยบายกองทัพภาคที่ 1 โดยการจัดตั้งจุดตรวจความมั่นคงในพื้นที่ อำเภอบางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่รอยต่อระหว่างกองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 4 เพื่อประสานการปฏิบัติ 2 กองทัพให้สอดประสาน
พร้อมนำยุทโธปกรณ์พิเศษเป็นเครื่องมือสกัดกั้น ทั้ง โดรนลาดตระเวนเส้นทางทางอากาศ การติดตั้งไฟส่องสว่างช่วยการปฏิบัติกลางคืนติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือ CCTV และกล้องตรวจจับความร้อน กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหว
“กองกำลังสุรสีห์”ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่สกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ป้องกันการนำเชื้อโควิด-19 เข้าประเทศตามพันธกิจจัดระเบียบชายแดน รวมไปถึงการสกัดยาเสพติด ทั้งยาบ้า ยาไอซ์ สิ่งผิดกฎหมาย และอาชญากรรมต่างๆ ที่มีความรุนแรงไม่แพ้กัน
ขณะเดียวกัน ยังต้องดำรงไว้ซึ่งการรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดน และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติให้ครอบคลุมทุกมิติ ตามสรรพกำลังทั้งหมดที่มี