เปิด-ปิดประเทศ ยึดหลักปลอดภัย อย่าให้ล็อกดาวน์ซ้ำ
แนวทางของนายกรัฐฯ และ ศบค.พยายามสื่อสารกับประชาชนเรื่องการเปิดประเทศ คือต้องมีความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ ลดหลั่นกันตามความเสี่ยง มีการการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเดินทางเข้าต้องฉีดวัคซีนครบ ต้องมีผลตรวจยืนยัน เชื่อว่าน่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี
เหลือเวลาอีกเพียง 10 วัน จะถึงกำหนดเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยตลอดวันที่ 20 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา ประเด็นเปิดประเทศถูกกล่าวถึงในวงกว้างโดยเฉพาะภาครัฐ ในช่วงเช้า นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในเรื่องดังกล่าว ว่าหลังจากเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ การจัดกิจกรรมต่างในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ต้องสอดคล้องกับมาตรการสาธารณสุขป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนอีก
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยตนเอง ก่อนเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สิงห์บุรี ระบุว่า วันนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ เพื่อเศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด “กรณีถ้าเปิดแล้วเกิดมีปัญหาก็ต้องปิด” ซึ่งก็ไม่อยากปิดทั้งหมด เพราะประชาชนเดือดร้อน
การให้สัมภาษณ์ดังกล่าว สร้างความกังวลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนการเปิดประเทศทั้งภาครัฐ เอกชนรวมถึงประชาชน เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเปิดประเทศในทำนอง “เปิดได้ก็ปิดได้” แต่หากพิจารณาระหว่างบรรทัดจะเห็นว่าพูดตามหลักการปกติ กล่าวคือหากเปิดประเทศแล้วพบปัญหาก็ต้องปิด แต่เป็นการปิดเฉพาะจุดที่มีปัญหาเท่านั้น แผนเปิดประเทศยังคงเดินหน้า ไม่มีชะลอหรือล้มเลิกแต่อย่างใด สอดคล้องกับผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. วันเดียวกัน
พญ.สุมนี วัชรสินธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก แถลงผลการประชุมฯ ถึงแนวทางการเปิดประเทศ อยู่ภายใต้ 3 ปัจจัยที่สำคัญ คือ 1.ปัจจัยที่เป็นมาตรการทางสาธารณสุข 2.ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเศรษฐกิจ แบ่งเป็น การท่องเที่ยว และการที่มาทำธุรกิจในประเทศ และ3.ปัจจัยความสอดคล้องกับมาตรการเข้า-ออกประเทศอื่นๆ การประชุมจากนี้ไปของ ศบค.โดยเฉพาะหลังวันที่ 1 พ.ย.จะดำเนินการเพื่อรองรับปัญหาหากต้องใช้แผนเผชิญเหตุหรือสถานการณ์ไม่คาดฝัน
เราเห็นว่าแนวทางที่นายกรัฐมนตรี และ ศบค.พยายามสื่อสารออกมา คือการยึดหลักเปิดประเทศแล้วประชาชนจะต้องมีความปลอดภัยเป็นอันดับแรก มีการวางรูปแบบการเข้าราชอาณาจักรไทยที่รัดกุมแบ่งเป็น 3 ระดับ ลดหลั่นกันตามความเสี่ยง มีการการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเดินทางเข้าต้องฉีดวัคซีนครบ ผลตรวจยืนยันไม่พบเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง เมื่อมาถึงประเทศไทยต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ในวันแรกที่มาถึง เราเชื่อว่าน่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี