เปิดเงินเดือน-สวัสดิการ ส.ส.บนภาษีประชาชน ในวัน "สภาล่ม" ซ้ำซาก
เปิดตัวเลขเงินเดือน-สวัสดิการ ส.ส.สุดหรู บนภาษีประชาชนทั้งประเทศ ในวัน "สภาล่ม" ซ้ำซากเป็นครั้งที่ 4 ในรอบปีนี้!
จากเหตุการณ์ "สภาล่ม" เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ... ถึงมาตราที่ 6 กลายเป็นเหตุ "สภาล่ม" อีกครั้งรอบที่ 4 ของปี 2564
ก่อนหน้านี้หากนับเหตุการณ์ "สภาล่ม" เฉพาะปี 2564 เกิดขึ้น "ครั้งแรก" เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.64 ในการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่..) พ.ศ… มี ส.ส.มาแสดงตน 206 คน จากองค์ประชุม 483 คน "ครั้งที่สอง" วันที่ 10 ก.ย.64 ในการประชุมร่วมรัฐสภา มี ส.ส.-ส.ว.มาแสดงตน 365 คน จากองค์ประชุม 730 คน
"ครั้งที่สาม" วันที่ 17 ก.ย.64 ในการประชุมร่วมรัฐสภา ในวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ มี ส.ส.-ส.ว.แสดงตนไม่ถึง 365 คน จากองค์ประชุม 730 คน และ "ครั้งที่สี่" ล่าสุดวันที่ 3 ต.ค.64 ในการประชุมนัดแรกหลังจากเปิดสมัยประชุมสามัญเมื่อ 1 พ.ย. มี ส.ส.แสดงตน 228 คน จากองค์ประชุม 476 คน
สำหรับความรับผิดชอบของ "ผู้แทนราษฎร" ในการเข้าประชุม ถูกกำหนดไว้ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ ซึ่งกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือเพื่อประโยชน์ประเทศ ต้องอุทิศเวลาให้แก่การประชุม โดยคำนึงถึงการตรงต่อเวลา และต้องไม่ขาดการประชุมโดยไม่จำเป็น
แต่เหตุ "สภาล่ม" ซ้ำซากก่อนหน้านี้สังคมออนไลน์แสดงความไม่พอใจกรณีสภาล่มเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.64 จนขึ้นเป็นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์ประเทศไทย #สภาล่ม วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ ส.ส.ที่ทำหน้าที่อยู่บนเงินเดือนภาษีประชาชน
อ่านข่าว : "วิษณุ"เตือน"พรรคร่วม"กลางวง "ครม."อย่าเผลอ ให้ "สภาล่ม"
ไม่ใช่แค่นั้น "ศรีสุวรรณ จรรยา" เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ ส.ส. 227 คนที่ไม่แสดงตนในการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.64 ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งในครั้งนั้นมี ส.ส.มาแสดงตนแค่ 206 คนจาก 483 คน
แน่นอนว่าเหตุการณ์ "วันสภาล่ม" เมื่อวันที่ 3 พ.ย. จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในการประชุมร่วมรัฐสภา หรือสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นประเด็นที่คนในสังคมยังตั้งคำถามถึงผู้แทนประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ระบบรัฐสภา ต่อความคุ้มค่าของ "เงินเดือน-สวัสดิการ" ที่ได้มาจากภาษีประชาชนหรือไม่
รายได้ ส.ส.-ส.ว.แต่ละเดือนอยู่ที่เท่าไหร่?
"กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบบัญชีอัตราเงินประจําตําแหน่งและเงินเพิ่ม ของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒสภา มีดังนี้
• ประธานสภาผู้แทนราษฎร : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาท
• รองประธานสภาผู้แทนราษฎร : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 63,860 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 106,360 บาท
• ประธานวุฒิสภา : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 74,420 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท รวม 119,920 บาท
• รองประธานวุฒิสภา : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาท
• ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาท
• สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท
• สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) : เงินเดือนประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท
สวัสดิการรักษาพยาบาล ส.ส.-ส.ว.เป็นอย่างไร?
นอกจากนี้ ยังมีบัญชี "อัตราสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวิฒิสภา" ดังนี้
การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ และเอกชน กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน แบ่งเป็น
• ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง ไม่เกิน 4,000 บาท
• ค่าห้องไอซียู/ซีซียู/วัน สูงสุด 7 วัน/ครั้ง ไม่เกิน 10,000 บาท
• ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 100,000 บาท
• ค่ารถพยาบาล ไม่เกิน 1,000 บาท
• ค่าผ่าตัด/ครั้ง ไม่เกิน 120,000 บาท
• ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 1,000 บาท
• ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง ไม่เกิน 4,000 บาท
• การคลอดบุตรคลอดธรรมชาติ 20,000 บาท และผ่าตัดไม่เกิน 40,000 บาท
• การรักษาทันตกรรม/ปี ไม่เกิน 5,000 บาท
• ผู้ป่วยนอก/ปี ไม่เกิน 90,000 บาท
• การตรวจสุขภาพประจําปี ไม่เกิน 7,000 บาท
ทั้งหมดเป็นตัวเลขรายได้ ส.ส.-ส.ว. รวมถึงสถิติ "สภาล่ม" ในปี 2564 ซึ่งจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เหตุการณ์สภาล่มเกิดขึ้น และจะไม่เป็นครั้งสุดท้ายที่ประชาชน จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา เมื่อตัวเลขรายได้เงินเดือนและสวัสดิการจัดเต็มเหล่านี้ ยังมาจากภาษีของประชาชน.