“กรณ์” ชี้ 5 สัญญาณสำคัญอนาคตการเงิน หลังกลุ่มแบงก์ซื้อกิจการ Crypto
"กรณ์" ชี้ 5 สัญญาณสำคัญอนาคตการเงิน หลังกลุ่มธนาคาร ซื้อกิจการ Crypto Exchange ยกตัวอย่าง “SCBX” เทค “BITKUB” เผยเรื่องน่ายินดีไทยมี “ยูนิคอร์น” เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงกรณี บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารไทยพาณิชย์ ทำสัญญาซื้อหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) ว่า เห็นสัญญาณบางเรื่องจากดีล Bitkub x SCBx การที่กลุ่มธนาคารมาซื้อกิจการ crypto exchange ด้วยเงินมหาศาลส่งสัญญาณสำคัญหลายข้อ คือ 1. เป็นการยืนยันว่า นายธนาคารมองว่า crypto เป็นส่วนสำคัญใน "อนาคตการเงิน" แน่นอน ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่จะเกิดจากการ synergy ของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารปัจจุบันร่วมกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการบริหารการลงทุนของนักลงทุนไทยในสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะมีมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามต่อว่าจะทำให้เงินทุนหมุนเวียนในตลาดทุน (ตลาดหลักทรัพย์) ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เมื่อนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นหรือได้รับการชี้ชวนจากสถานบันการเงินเดิมที่ตนเชื่อมั่นและคุ้นเคย
2. แนวโน้มจากที่ในอดีตธนาคารพาณิชย์ขยายฐานธุรกิจด้วยการซื้อหรือควบรวมกันเอง จากนี้เราจะเห็นธนาคารพาณิชย์ซื้ออนาคตด้วยการลงทุนใน alternative finance (การเงินทางเลือกใหม่) ซึ่งแปลว่าธนาคารที่ขาดวิสัยทัศน์หรือขาดกำลังทุนมีแนวโน้มสูญพันธุ์สูง การตอบโต้ทางการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์กันเองในเรื่องนี้ จะมีผลสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมการเงินไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
3. เมื่อธนาคารพาณิชย์ขยับ ฝ่ายกำกับดูแลต้องเร่งขยับตาม ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติหรือ ก.ล.ต ซึ่งวันนี้ยังเกี่ยงความรับผิดชอบกันอยู่ว่าใครมีหน้าที่คุมส่วนไหนของโลกดิจิทัล การจุดพลุโดยผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเอง ย่อมกระตุ้นการกำกับให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และการข้ามเส้นระหว่างเครื่องมือการเงินtradition กับยุคใหม่ ถ้ามองว่า crypto currency เป็นส่วนสำคัญของเรื่องการเงินและทรัพย์สินดิจิทัล ของ โลก metaverse ประเทศไทยเราก็กำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางของ mega trend กระแสโลก โดยเอกชนภาคการเงิน
4. ในภาพรวมเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่เราเริ่มมี "ยูนิคอร์น" เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังใจที่ดีให้กับสตาร์ทอัพไทยอื่นๆได้สู้ต่อ การเกิดดีลนี้ย่อมส่งผลต่อ ecosystem Startup ไทย ให้ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น จะเห็นว่าสตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพในตนเอง หากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐฯ ไทยจะสามารถสร้างยูนิคอร์นรายต่อๆไปได้เร็วและจำนวนมากที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงได้
5. ในขณะเดียวกันความท้าทายเดียวที่เป็นห่วงคือ กฎระเบียบจากฝ่ายกำกับที่ถูกขับดันจากผู้เล่นรายใหญ่เดิมจะต้องไม่เป็นการกีดกันโอกาสการเติบโตของ startup รายย่อยด้วยเช่นกัน แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันแบบเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก ทั้งในประเทศเอง และในตลาดโลกซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญและเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หรือการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล นี้ได้
"ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองสัญญาณในฐานะรุ่นพี่จากโลกการเงิน จากอดีตคนกำกับนโยบายการคลังของชาติ และในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองที่มองว่า "เศรษฐกิจไทย" อย่างไรเสียก็ต้องก้าวเข้าสู่ยุคการเงินดิจิทัลที่เต็มไปด้วยโอกาส และการท้าทาย สำคัญที่สุด ผู้บริหารภาครัฐต้องตามให้ทัน รู้ให้ลึก และสร้างประโยชน์ให้ตกแก่คนไทยให้ได้" นายกรณ์ กล่าว