ปั่นกระแส แก้“ม.112” บี้เพื่อไทย “แพ้แลนด์สไลด์"
หลังจากนี้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” คงไม่หันมาเล่นเกม แก้ ม.112 เพื่อเอาใจ “คนรุ่นใหม่” อีกแล้ว เพราะกระทบกับแผน“กลับบ้าน”ที่จำเป็นต้องเปิดดีลกับ “ชนชั้นนำ”
พรรคเพื่อไทย (พท.) พยายามสลัดข้อครหา “สู้ไป กราบไป” หวังได้ใจ ได้คะแนนจาก “คนรุ่นใหม่” แต่อาการชักเข้าชักออก วันหนึ่งออกแถลงการณ์ ทำนองว่าพร้อมลุยแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112)
ไม่ทันข้ามวัน ดูเหมือนสถานการณ์ก็พลิก ออกลูกพลิ้ว ไม่คัดค้านการแก้ไข แต่ไม่เสนอเองให้มีการแก้ไข ม.112 และขอเป็น “ตัวกลางในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ” นำข้อเสนอฝ่ายต่างๆ เข้าสู่กระบวนการสภาฯ
ทำเอารุ่นเก่า-รุ่นใหม่ สับสนในจุดยืนที่กลับไปกลับมา และสงสัยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการเปลี่ยนท่าทีของพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้
หากมองเชิงโครงสร้างของเพื่อไทยในเวลานี้ “กลุ่มแคร์” เป็นกลุ่มการเมืองหลักที่เข้ามาวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพรรค โดยจะคอยประชุมหารือกับ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีทุกสัปดาห์ แต่หากมีเรื่องร้อนๆ ทางการเมือง ก็มีการหารือกันบ่อยครั้งขึ้น
ต้องยอมรับว่าเนื้อแท้ของ “กลุ่มแคร์” มีคีย์แมนหลักเป็นคนเดือนตุลาฯ ที่เคยอยู่ร่วมในขบวนการนักศึกษา ต่อสู้เชิงโครงสร้างทางอำนาจ จนเป็นจุดเริ่มของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเฉพาะ “สหายใหญ่”ภูมิธรรม เวชยชัย อดีต รมช.คมนาคม “สหายจรัส” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีต รมว.พลังงาน และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
“ภูมิธรรม-พรหมินทร์” มองว่าการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ จำเป็นต้องดึงเสียง “คนรุ่นใหม่” ที่เป็นแฟนคลับของพรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า มาเป็นฐานเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยให้ได้มากที่สุด เพราะแม้พรรคเพื่อไทยยังคงมีฐานเสียงที่เหนียวแน่นในภาคเหนือ-ภาคอีสาน แต่นิวโหวตเตอร์เลือกพรรคเพื่อไทยยังมีสัดส่วนน้อย
จึงนำมาสู่แถลงการณ์ของ “ชัยเกษม นิติสิริ” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทย เตรียมผลักดันการแก้ไข ม.112 และ ม.116 เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ
ทว่า กลับเป็น “โทนี่” ทักษิณ ออกมาเบรกแถลงการณ์ดังกล่าวด้วยตัวเอง แม้จะไม่พูดชัดเจนว่า คัดค้านการแก้ไข ม.112 เพื่อรักษาน้ำใจของกองเชียร์ แต่เนื้อแท้แล้ว “ทักษิณ” ไม่เห็นด้วยกับการเล่นเกมแตกหักกับ “ชนชั้นนำ”
ภายหลังออกมาเบรก “กลุ่มแคร์-เพื่อไทย” ว่ากันว่า “ทักษิณ” สืบสาวราวเรื่องว่าใครเป็นคนเขียนแถลงการณ์ดังกล่าว เพราะไม่มีใครแจ้งให้รู้มาก่อน
“ทักษิณ” ต่อสายตรงมายัง “ภูมิธรรม” ถามตรงๆ ว่า “ใครทำ เรื่องใหญ่แบบนี้ทำไมไม่แจ้งผมก่อน” จากนั้น “ภูมิธรรม” จึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมก่อนต่อสาย วีดิโอคอลไปหา “ทักษิณ” โดยมีคีย์แมนของพรรคเพื่อไทยอยู่กันครบ
“ทักษิณ” ยิงคำถามไปที่ “ชัยเกษม”ว่า “ใครทำ” แต่คำตอบจากชัยเกษมไม่ระบุชื่อใครชัดเจน ก่อนที่ทักษิณจะถามในวงประชุมทุกคน แต่ไม่มีใครโยนความผิดให้ใคร
จากนั้นทักษิณจึงหาทางออกว่า หลังจากนี้ต้องหาทางแก้ข่าว ก่อนที่ชัยเกษมจะบอกกับ “พรหมินทร์” ว่า “คุณหมอจะให้แก้อย่างไร ก็ร่างแถลงการณ์มาแล้วกัน”
ถึง “ทักษิณ” จะไม่ได้คำตอบว่าใครเป็นต้นคิด และ “ไอ้โม่ง” คนไหนเป็นมือร่างแถลงการณ์หนุนแก้ ม.112-ม.116 แต่บทสนทนากันภายในวงประชุม ก็พอเดากันออก
หากย้อนดูร่องรอยของแนวคิดที่ต่างกัน “ทักษิณ” โพสต์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 ในคืนวันที่ 2 พ.ย. เพื่อสยบความเคลื่อนไหว พร้อมส่งสัญญาณให้ กลุ่มแคร์-พรรคเพื่อไทย ใส่เกียร์ถอย แต่วันที่ 3 พ.ย. กลับมีแถลงการณ์ของ “กลุ่มแคร์” สนับสนุนการแก้ไข ม.112 ออกมาสวนทาง
ท่าที “กลุ่มแคร์” ไม่ค่อยแคร์ “ทักษิณ” ในกรณีนี้ เพราะมองเกมการแก้ไข ม.112 เป็นป้อมปราการที่ต้องตีให้แตก หากคิดจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เนื่องจากฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” นับวันยิ่งเพิ่มขึ้น สวนทางกับฐานเสียงเดิมของตระกูลชินวัตร ที่เริ่มลดน้อยถอยลง
ขณะที่ “ทักษิณ” มองว่าหากดันทุรังแก้ ม.112 โอกาสที่จะเปิดศึกกับ “ชนชั้นนำ” มีสูงมากขึ้น และจะยิ่งทำให้เกิดความไม่พอใจสูงลิบ แถมกระแสต่อต้านการแก้ ม.112 ในสังคมยังมีอยู่มาก จะยิ่งทำให้ “ชนชั้นนำ” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เป็นด่านหน้ากลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
น่าสนใจว่า การออกมาเบรกเสี่ยงแก้ ม.112 ของ “ทักษิณ” จะทำให้พรรคเพื่อไทยเสียโอกาสได้กระแสจาก “คนรุ่นใหม่” มากน้อยเพียงใด
ที่แน่ๆ หลังจากนี้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” คงไม่หันมาเล่นเกม แก้ ม.112 เพื่อเอาใจ “คนรุ่นใหม่” อีกแล้ว เพราะกระทบกับแผน“กลับบ้าน”ที่จำเป็นต้องเปิดดีลกับ “ชนชั้นนำ”
ขณะที่ “กลุ่มแคร์” อาจจะยืนคนละจุดกับ “ทักษิณ” เพราะตัวตน อุดมการณ์ อยู่คนละข้างกับสถาบันฯ มาตั้งแต่สมัยสวมชุดนักศึกษาเมื่อ 45 ปีที่แล้ว
“ทักษิณ” จึงไม่มีทางสลัดข้อครหา “สู้ไป กราบไป” ให้พ้นตัวได้ จึงต้องยอมทิ้งคะแนนจาก “คนรุ่นใหม่” ที่มีจุดยืนแก้ ม.112
ว่ากันว่า “ทักษิณ” พยายามจะพลิกเกมเพื่อแก้สถานการณ์นี้ให้ทันท่วงที เพราะจับสัญญาณได้ว่าฝ่ายตรงข้ามเตรียมฉวยประเด็นร้อนนี้ตีกินในสนามเลือกตั้ง หวังพลิกสถานการณ์ถล่มเพื่อไทยให้เจอกระแส “แพ้แบบแลนด์สไลด์”