“คณะราษฎร”ลาม“พรรคก้าวไกล"เอฟเฟกต์“ล้มล้างการปกครอง”

“คณะราษฎร”ลาม“พรรคก้าวไกล"เอฟเฟกต์“ล้มล้างการปกครอง”

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ข้อเสนอ 10 ข้อ ของ "กลุ่มราษฎร" คือ การกระทำล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งห้ามกระทำอีกในอนาคต หลังจากนี้ ต้องจับตาเอฟเฟกต์ ต่อ"นักการเมือง" ที่มีบทบาทสอดคล้องกับกลุ่มราษฎร ที่พุ่งเป้า "ก้าวไกล" ที่ในเกมต่อสู้ทางการเมือง ถูกจ้อง "กำจัด"

         ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคำร้องของ “ณฐพร โตประยูร” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่าการกระทำของ กลุ่มราษฎร ที่มี อานนท์ นำภา ไมค์ ระยอง-ภาณุพงศ์ จาดนอก รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นแกนนำ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งเสนอแนวทางการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ว่า เป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

 เพราะเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ โดยมีเจตนาซ่อนเร้นในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต มีการละเมิดกฎหมาย

อีกทั้งยังพบการจัดตั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง มีส่วนจุดประกายการอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ทำลายหลัก “เสมอภาค” และ “ภราดรภาพ” นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

ถือว่ามีมูลเหตุจูงใจล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

         ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งตามมาด้วยว่า "ให้ผู้ถูกร้องรวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่าย เลิกกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต”

ภายหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แม้ “รุ้ง” ตัวแทนคณะราษฎรจะแถลงไม่ยอมรับ เพราะขาดความชอบธรรมในการพิจารณาคดี และจะเดินหน้าในจุดยืนเดิม

“คณะราษฎร”ลาม“พรรคก้าวไกล\"เอฟเฟกต์“ล้มล้างการปกครอง”

         ทว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นข้อผูกพันให้กับทุกองค์กร ตามกติกาสูงสุดกำหนดไว้

         สิ่งที่ถูกจับจ้องต่อมาคือ คำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันได้เชื่อมโยงกับการกระทำตามคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะให้ "เลิกการกระทำอื่นใดในอนาคตด้วย” จะมีผลกระทบกับการกระทำอื่นใด ของบุคคลใด และมีผลอย่างไร ในทางกฎหมายต่อไป

โดยเฉพาะข้อเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของม็อบทะลุฟ้า หรือการเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ ส.ส.ก้าวไกล กำลังถูกจับตาว่าในทางปฏิบัติสามารถทำได้หรือไม่

 “พรรคก้าวไกล” ภายใต้การนำของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ได้ให้ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคแถลงถึงจุดยืนที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าสู่สภาฯ

“คณะราษฎร”ลาม“พรรคก้าวไกล\"เอฟเฟกต์“ล้มล้างการปกครอง”

         ทั้งที่ก่อนหน้านั้นฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ให้ความเห็นว่า ไม่สามารถรับเรื่องนี้ได้เพราะเข้าข่ายขัดกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

 คำยืนยันของ “ชัยธวัช” เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ระบุว่า เนื้อหาไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

  สำหรับเนื้อหาขอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล มีสาระสำคัญคือ

 “ผู้ติชมหรือแสดงความเห็นโดยสุจริต และเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ถือเป็นความผิด และหากบุคคลใดถูกตั้งความผิด และพิสูจน์ได้ว่าเรื่องที่พูดเป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ” และ “เสนอแก้ไขบทลงโทษในกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาว่า ให้ตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท”

         ประเด็นนี้ “ไพบูลย์ นิติตะวัน" มือกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ ไม่ขอให้ความเห็นว่าจะเข้าข่ายต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หากเป็นการเสนอให้ “ยกเลิกมาตรา 112” จะถือว่าเข้าข่ายพฤติกรรมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจน

 

         ส่วนพฤติกรรมของ “นักการเมือง” รวมไปถึง “พรรคการเมือง-คณะการเมือง” ที่ก่อนหน้านี้พบการสนับสนุน และแสดงความเห็นไปในทำนองเดียวกันกับ “คณะราษฎร” ในประเด็น 10 ข้อเรียกร้อง “ไพบูลย์” ในฐานะผู้เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ขอไม่ออกความเห็น แต่ในทางปฏิบัตินั้น “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” เป็นผู้มีหน้าที่ต้องพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92

“คณะราษฎร”ลาม“พรรคก้าวไกล\"เอฟเฟกต์“ล้มล้างการปกครอง”

         ส่วนการตรวจสอบ “นักการเมือง” ที่กระทำ-มีพฤติกรรมเข้าข่ายต้องตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สามารถยื่นร้องว่าผิดมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองได้ ตามข้อกำหนดที่เป็นหลักการกำหนดให้ยึดมั่น และธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

         ชั้นนี้ แม้ไม่สามารถชี้ได้ว่าใครผิด หรือใครควรถูกดำเนินคดีเพราะแสดงความเห็นสนับสนุนแนวคิดปฏิรูปสถาบัน เพราะตามรายละเอียดของการอำนวยความยุติธรรมต้องพิจารณาหลักฐาน พยาน รวมถึงพฤติกรรมประกอบ

 

         ในทางการเมืองปฏิเสธไม่ได้ว่า “พรรคก้าวไกล” ถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่คู่แข่งในสนามเลือกตั้งต้องการกำจัด ดังนั้นเอฟเฟกต์จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมกระทบกับ “พลพรรคส้มหวาน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์